พาณิชย์เปิดตัว 2 ดัชนีใหม่ช่วยรัฐแก้ปัญหาได้ตรงจุด

พาณิชย์เปิดตัว 2 ดัชนีใหม่ช่วยรัฐแก้ปัญหาได้ตรงจุด

พาณิชย์ จัดทำ 2 ดัชนีใหม่”ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงาน-ดัชนีราคาค่าครองชีพพื้นฐาน “สะท้อนภาวะค่าครองชีพกลุ่มแรงงานและราคาสินค้า เพื่อให้รัฐนำไปใช้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค. ได้จัดทำดัชนีราคาขึ้นใหม่ 2 ชุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้มากขึ้น ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงาน (CPI Worker) และดัชนีราคาค่าครองชีพพื้นฐาน (CPI-Basic ) หรือดัชนีราคาปัจจัยสี่  ทั้งนี้การทำดัชนี ใหม่ทั้ง2 ชุดนี้ ก็เพื่อช่วยให้นโยบายของรัฐในด้านการช่วยเหลือหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ออกมาโดยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ให้มากที่สุดโดยเฉพาะในช่วงที่กำลังต้องฟื้นตัวจากโควิด-19

โดยดัชนีแรงงานจะเป็นตัวชี้วัดทางเลือกในการสะท้อนภาวะค่าครองชีพของผู้บริโภคกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะ เป็นการบูรณาการกระบวนการทำงานระหว่าง สนค. กับกระทรวงแรงงาน ในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มแรงงาน ซึ่งตัวชี้วัดนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดที่มีประสิทธิภาพในการนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ทั้งในระดับภาพรวมและระดับภูมิภาค เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกระดับได้เป็นอย่างดี รวมทั้งอาจใช้เป็นเครื่องชี้วัดประกอบการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายจังหวัดได้

เบื้องต้นพบว่า  ผู้บริโภคกลุ่มแรงงานมีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มทั่วไป โดยจะใช้เงินในการบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า มากกว่าหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร กล่าวคือค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด คิดเป็น 42.06%  ในขณะที่ ผู้บริโภคกลุ่มทั่วไปมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายหมวดนี้ที่ 36.70 %

สำหรับผลการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงานของประเทศ พบว่า เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.81%  ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคชุดทั่วไปของประเทศที่ลดลง 1.13 % เมื่อจำแนกเป็นรายภาค พบว่า รูปแบบความเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงานเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกภูมิภาค

 

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ส่วนดัชนีราคาค่าครองชีพพื้นฐานหรือดัชนี เป็นดัชนีราคาที่คัดเลือกรายการสินค้าและบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ (Basic Needs) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีการอุปโภคบริโภคเป็นประจำ โดยองค์ประกอบของดัชนีแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดเคหสถาน หมวดยา ของใช้ และบริการส่วนบุคคล และหมวดการขนส่งและการสื่อสาร ประกอบด้วยรายการสินค้าและบริการ จำนวน 111 รายการ ซึ่งมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายประมาณ 66% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในตะกร้าเงินเฟ้อปัจจุบัน ซึ่งหากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ราคาขึ้นสูงไปก็จะมีการเตือนการให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปดูแลใกล้ชิด รวมทั้งอาจหามาตรการในการช่วยลดราคาหรือสนับสนุนการใช้จ่ายกลุ่มสินค้าและบริการดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ดัชนีดัชนีราคาปัจจัยสี่ กับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน แต่ดัชนีราคาปัจจัยสี่ส่วนใหญ่จะมีขนาดการเปลี่ยนแปลงมากกว่า (Higher Volatile) ทั้งนี้เพราะสินค้าสำคัญในตะกร้าปัจจัยสี่ เช่น น้ำมัน อาหาร จะมีการขึ้นลงที่แรงกว่าราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ โดยล่าสุดดัชนีราคาปัจจัยสี่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 หดตัว1.27% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหดตัวเพียง  0.73 %   เมื่อจำแนกรายภาค พบว่ามีการลดลงในทุกภาค โดยภาคใต้ ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 2.25 รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 1.64 ภาคกลาง1.32 %ภาคเหนือ  1.07%  และกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงน้อยที่สุด  0.97% โดยมีปัจจัยหลักที่ทำให้ลดลงในทุกภาค จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ผลไม้ ในขณะที่ปัจจัยที่ทำให้สูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์และไข่ และเครื่องประกอบอาหาร เป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ ดัชนีทั้งสองชุดจะมีการเผยแพร่เป็นรายไตรมาส โดยข้อมูลนำมาจากการสำรวจราคาทั่วประเทศจาก 44,804 แหล่งในแต่ละเดือน ที่ สนค. ดำเนินการอยู่เพื่อจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้ออยู่แล้ว โดยได้คัดเลือกรายการและตัวอย่างมาคำนวณและปรับน้ำหนักเพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการทำดัชนี เป็นการใช้ประโยชน์จาก Big Data ด้านราคาที่มีอยู่แล้วเพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน