แผนย้าย 'หมอชิต' กลับ พร้อมปั้น 'Mixed-use' แห่งใหม่

แผนย้าย 'หมอชิต' กลับ พร้อมปั้น 'Mixed-use' แห่งใหม่

ศูนย์คมนาคมพหลโยธินกำลังจะเริ่มนำร่องเปิดให้บริการในปี 2564 ด้วยบริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ณ สถานีกลางบางซื่อ 

ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่า แต่กลับเป็นพื้นที่ใช้สอยของหลายหน่วยงานภายใต้สัญญาเช่า โดยหนึ่งในหน่วยงานที่จะต้องรื้อย้าย และคืนพื้นที่ให้กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) คือ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2

ปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 โดยระบุว่า ตามนโยบายและแผนงานของกระทรวงคมนาคม กำหนดให้ บขส. ต้องคืนพื้นที่สถานีขนส่งจตุจักรให้กับ ร.ฟ.ท. ภายในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปี 2569 เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวไปพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ภายใต้โครงการ ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน

โดยแผนที่กำหนดไว้ บขส.จะต้องย้ายไปเช่าใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์บริเวณใกล้กับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีจตุจักร ภายในโครงการพัฒนา Complex (คอมเพล็กซ์) ของบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ Bangkok Terminal (BKT) ผู้ได้รับสิทธิในการดำเนินงานในโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ดินราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบัน BTS ใช้ประโยชน์อยู่

สำหรับแผนพัฒนาคอมเพล็กซ์ของ BKT ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท มีขนาดพื้นที่ใช้สอยรวม 1.2 แสนตารางเมตร เบื้องต้นโครงการจะพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านหลังโครงการ ซึ่งติดกับถนนวิภาวดีรังสิต จะพัฒนาเป็นสถานีบริการขนส่งแห่งใหม่ (Bus Terminal) ที่ทันสมัยให้ บขส.เช่าใช้งาน ส่วนด้านหน้าโครงการ ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านติดถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าสวนจตุจักรจะพัฒนาเป็นMixed-use  มีอาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารจอดรถ และศูนย์ประชุมระยะเวลาก่อสร้าง 60 เดือน (5 ปี) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564

สำหรับขั้นตอนดำเนินงานหลังจากนี้ สนข. จะนำเสนอโครงการพร้อมแผนรองรับจราจรเสนอให้ ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอนุมัติภายในกลางเดือน ต.ค.นี้ หากผ่านการอนุมัติ คจร. กรมธนารักษ์จะเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป

นายปัญญา เผยด้วยว่า แผนการก่อสร้างสถานีบริการขนส่งแห่งใหม่ (Bus Terminal) ทาง BKT จะเป็นผู้ลงทุน ในส่วนของอาคารสถานีซึ่งพื้นที่ด้านหลังจะติดกับถนนวิภาวดีรังสิต และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรหนาแน่น จะมีการขยายถนนบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 5 ให้เป็น 2 ช่องจราจรขนาดใหญ่ โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นผู้ก่อสร้างและเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้งบราว 1.6 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน

160216423189

รวมทั้ง BKT จะมีการดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมจากโทลเวย์เข้ามายังโครงการ ส่วนบริเวณด้านหน้าโครงการ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าสวนจตุจักร BKT จะมีการดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมจาก ตลาด อ.ต.ก. เข้ามายังโครงการ และยังสามารถเชื่อมต่อกับทางยกระดับเกียกกายด้วย

“ตามแผน BKT ระบุว่าช่วง ไตรมาสที่ 1-2 ปี 2568 จะเปิดประมูลงานก่อสร้างสถานีแห่งใหม่ เริ่มงานก่อสร้างประมาณช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2568 จากนั้นก็ทดสอบระบบ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส1ของปี 2570”

สำหรับการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ของ บขส.มีการเจรจาระหว่าง บขส. และ ร.ฟ.ท. มาต่อเนื่อง โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข.เป็นผู้ทำแผนศึกษาเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่อย่างไรก็ดี ตามนโยบายของคณะกรรมการและผู้บริหาร บขส.ในช่วงที่ผ่านมา ยังเล็งเห็นว่าการใช้พื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 มีความเหมาะสมมากกว่า

เนื่องจากจะเกิดประโยชน์ด้านการเชื่อมต่ออู่รถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่อยู่ด้านข้างสถานีรถตู้ถนนกำแพงเพชร (ฝั่งตรงข้ามสถานีหมอชิต 2) และเชื่อมต่อระบบขนส่งรถ Shuttle Bus ไปยังสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งอนาคตจะเป็นสถานีศูนย์รวมของระบบรถไฟชานเมือง รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง