'หุ้นไทย'ปีหน้าลุ้นแตะ1,500จุด เงินต่างชาติจ่อไหลกลับ-ระยะสั้นถูกกดดันจาก 5 ปัจจัย

'หุ้นไทย'ปีหน้าลุ้นแตะ1,500จุด เงินต่างชาติจ่อไหลกลับ-ระยะสั้นถูกกดดันจาก 5 ปัจจัย

บล.เอเซียพลัส คาดหุ้นไทยปีหน้ามีลุ้นแตะ 1,500 จุด หนุนจากสภาพคล่องล้นและฟันด์โฟลว์ไหลกลับ แต่ช่วงเดือน ต.ค. - พ.ย. นี้ อาจถูก "5 ปัจจัยถ่วง" ขณะที่มาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ หนุนกลุ่มค้าปลีกคึกคัก

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า โดยภาพรวมความเสี่ยงจากการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้ลงน่าจะหมดลงไปแล้ว จากต้นปีที่คาดว่ากำไรจะอยู่ที่ 101 บาทต่อหุ้น ปัจจุบันประเมินว่ากำไรปีนี้จะอยู่ที่ 56.65 บาทต่อหุ้น ขณะที่กำไรรายไตรมาสน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มปีหน้าประเมินกำไรฟื้นตัวกลับมาที่ 72.51 บาทต่อหุ้น จึงประเมินเป้าหมายหุ้นไทย (SET) ปีหน้าที่ 1,450 จุด และหากคณะกรรมการการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ จะทำให้เป้าหมายของ SET ขยับขึ้นไปเป็น 1,526 จุด

“ปัจจัยหลักที่หนุนให้ SET มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ คือ สภาพคล่องในระบบที่สูงถึง 15.5 ล้านล้านบาท สูงกว่ามาร์เก็ตแคปของ SET ในปัจจุบันที่กว่า 13 ล้านล้านบาท และจากสถิติในอดีต เมื่อเงินฝากในระบบสูงกว่ามาร์เก็ตแคปของ SET ก็มีโอกาสที่เม็ดเงินจะไหลเข้ามาลงทุนในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะต่ำไปอีก 1-2 ปี ทำให้การฝากเงินได้ผลตอบแทนที่ไม่จูงใจมากพอ โดยกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มเทคโนโลยีและการบริโภค”

นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นไทยต่อเนื่องจนสัดส่วนการถือครองรวมลดลงมาเหลือเพียง 25.8% หลังจากที่ปีนี้ขายไปแล้วกว่า 2.8 แสนล้านบาท และนับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้ว 8.68 แสนล้านบาท ซึ่งในปีหน้ามีโอกาสจะเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาได้บ้าง ขณะเดียวกันปีนี้เราเห็นการเปิดบัญชีใหม่ของนักลงทุนรายใหญ่มากขึ้น 5.1 แสนบัญชี จากปกติที่เพียง 2 - 3 แสนบัญชี เป็นแรงหนุนต่อหุ้นขนาดเล็กให้ปรับตัวได้ดีกว่าตลาด

อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นช่วงเดือน ต.ค. - พ.ย. นี้ ดัชนี SET มีโอกาสจะถูกกดดันจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในหลายประเทศ นำมาซึ่งการล็อกดาวน์บางพื้นที่ในหลายประเทศ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา 2.การเมืองในประเทศ เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งการชุมนุมใหญ่ในอดีตที่ผ่านมากดดัน SET ให้ลดลงเฉลี่ย 6.2% ส่วนการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกกดดันให้ SET ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 7.4%

3.การเลือกตั้งของสหรัฐ จากสถิติการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีมักจะปรับตัวลดลงในช่วง 1 เดือนก่อนและหลังการเลือกตั้ง แต่หลังจากเลือกตั้ง 1 ปี ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น โดยประเมินว่าจุดที่เหมาะสมต่อการเข้าลงทุนคือช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งที่ตลาดปรับฐาน ทั้งนี้ หาก โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสที่เงินลงทุนจะไหลมาทางฝั่งสหรัฐ ด้วยนโยบายการขึ้นภาษีบริษัทในสหรัฐ

4.การเข้าตลาดของ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ซึ่งกองทุน 18 แห่ง สนใจจองซื้อรวมกัน 2.3 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดการปรับพอร์ตและขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมา และด้วยมาร์เก็ตแคปของ SCGP ในระดับ 1.4 – 1.5 แสนล้านบาท จึงมีโอกาสที่หุ้นจะถูกรวมเข้าไปอยู่ในกลุ่ม SET50 และ SET100 ทำให้หุ้นอย่าง บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และบมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) มีโอกาสหลุดออกจาก SET50 และ SET100 ตามลำดับ และ 5.การปรับเกณฑ์ Short sell และ Ceiling/Floor กลับมาปกติ หากความเสี่ยงต่างๆ รุนแรงขึ้นมาอีก มีโอกาสที่ SET จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของภาครัฐ คือ ช้อปดีมีคืน เป็นปัจจัยหนุนให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีกกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าไอทีและสินค้ากลุ่มฮาร์ดไลน์ เช่น สินค้าตกแต่งบ้าน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยมองหุ้นที่น่าจะโดดเด่นและราคาหุ้นปัจจุบันยังไม่สูง คือ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) บมจ.เอส พี วี ไอ (SPVI) และบมจ.เจ มาร์ท (JMART)