กรมควบคุมโรค มอบหมายหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่กรณีก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล

กรมควบคุมโรค มอบหมายหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่กรณีก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล

กรมควบคุมโรค มอบหมายหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่กรณีก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลใน จ.เพชรบูรณ์

วันนี้ (8 ตุลาคม 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่ามีก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลที่โรงน้ำแข็งแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ นั้น  กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า หลังจากได้รับรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ได้มอบหมายให้กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สคร.2 จ.พิษณุโลก) ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์  ติดตามและประสานงานกรณีก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลดังกล่าวกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และในวันนี้กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และ สคร.2 จ.พิษณุโลก ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคและตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมทั้งให้ความรู้และคำแนะนำในการป้องกันตนเองแก่ประชาชน ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ดร.แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า ก๊าชแอมโมเนียมีผลกระทบต่อสุขภาพในลักษณะเฉียบพลัน เมื่อก๊าชแอมโมเนียสัมผัสกับน้ำจะทำปฏิกิริยาเกิดเป็นกรด กัดกร่อนเนื้อเยื้อ สำหรับประชาชนที่ได้รับสัมผัสในปริมาณน้อยจะเกิดอาการสำคัญคือทำให้เยื่อบุต่างๆ ของร่างกายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบเกิดอาการแสบตา น้ำตาไหล แสบจมูก แสบคอ บางรายอาจมีอาการไอหรือแสบตามผิวหนัง

ทั้งนี้หากได้รับสัมผัสในปริมาณมาก เช่น กรณีผู้ป่วย 2 ราย เข้าไปปิดวาล์ว ถือว่าได้รับปริมาณมากเกินกว่าปกติหลายเท่า ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหลอดลมและถุงลมอย่างรุนแรง แน่นหน้าอก หมดสติได้ดังที่เป็นข่าว เมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์จะดูแลให้การรักษาประคับประคอง อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะหายได้เอง ผู้ที่มีอาการหนักดังกล่าว ควรดูแลเฝ้าระวังสังเกตสุขภาพอย่างต่อเนื่อง 1 เดือน จนกว่าอาการจะกลับมาเป็นปกติ นอกจากนั้นก๊าชแอมโมเนียไม่มีผลตกค้าง ไม่ก่อมะเร็ง ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แอมโมเนีย​' รั่วในโรงงานน้ำแข็งเขาค้อ           

ทั้งนี้ ข้อมูลสถานการณ์อุบัติภัยสารเคมี 5 ปีย้อนหลัง ของเหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล (ปี 2558–2562) มีเหตุการณ์ 25 ครั้ง พบว่าประเภทกิจการที่มีเหตุการณ์สูงสุด ได้แก่ 1.โรงงานผลิตน้ำแข็ง 2.โรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง และ 3.ห้องแช่เย็น ตามลำดับ โดยเกิดเหตุการณ์ในจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางมากที่สุด คือ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการประเภทโรงงานที่ใช้ก๊าซแอมโมเนียในกระบวนการผลิตของขั้นตอนต่างๆ เพื่อทำความเย็นทั้งสิ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนมากเกิดจากการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียแล้วเกิดหมอกควันสีขาวขึ้น ส่งผลให้พบผู้ป่วยที่ได้รับสัมผัสก๊าซแอมโมเนียเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจมีอาการหายใจติดขัด วิงเวียนศีรษะ อาเจียน และการระคายเคืองบริเวณดวงตา อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ 5 ปีย้อนหลังดังกล่าวไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด

          

นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า ขอแนะนำประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุดังกล่าว หากตนเองหรือคนในครอบครัวมีอาการระคายเคืองตาหรือผิวหนัง หรืออาการต่างๆ ข้างต้นในช่วง 1 สัปดาห์ (8-15 ต.ค. 63) ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป นอกจากนี้โรงงานควรมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของก๊าชแอมโมเนียและมีทีมรับมือเหตุฉุกเฉินอย่างทันการณ์ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก และขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลเฝ้าระวังสังเกตในพื้นที่ที่มีโรงงานทำน้ำแข็งและห้องเย็น หากมีเหตุการณ์ผิดปกติหรือได้กลิ่นฉุนรุนแรง ขอให้แจ้งพนักงานในโรงงาน ผู้นำชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการระงับเหตุดังกล่าวให้เร็วที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422