สกัด 'แรงงานอพยพ' ดาบสองคมชาติมั่งคั่ง
สกัด “แรงงานอพยพ” ดาบสองคมชาติมั่งคั่ง ขณะสหรัฐจะยอมรับผู้อพยพไม่เกิน 15,000 คน ในปีหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
การขาดแคลนแรงงานอพยพกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้แก่บรรดาประเทศร่ำรวยที่นับวันอัตราประชากรเกิดใหม่จะน้อยลงเรื่อยๆ และทุกวันนี้ปัญหาขาดแคลนแรงงานกำลังเป็นภัยคุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างจำกัด
ผู้สังเกตุการณ์คาดการณ์ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 และกระแสการต่อต้านแรงงานอพยพในชาติเศรษฐกิจก้าวหน้า กำลังสร้างปัญหาให้แก่แนวโน้มผู้อพยพทั่วโลกในปีนี้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นแก่ประเทศที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ ที่เศรษฐกิจของประเทศอาจชลอตัวเพราะขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.การทำประชามติของสวิสปฏิเสธข้อเสนอที่จะยุคิการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของแรงงานภายในสหภาพยุโรป(อียู)พรรคสวิส พีเพิล พาร์ตี้ ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดเสนอแนวคิดนี้ แต่ถูกปฏิเสธจากหลายฝ่ายด้วยความกลัวว่าจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากผลพวงของการระบาดของโรคโควิด-19อยู่แล้ว แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ประเด็นเปิดรับผู้อพยพหรือไม่เปิดรับผู้อพยพของหลายประเทศทั่วโลก ก็เป็นปัญหาคลาสสิคในประวัติศาสตร์มาตลอด
อย่างกรณีสหรัฐที่ผลักดันให้มีการออกกฏหมาย"ไชนีส เอ็กซ์คลูชันแอค เมื่อปี 2425 ได้สำเร็จ เพราะบรรดาผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในสหรัฐกลัวว่าจะถูกแรงงานอพยพแย่งงานไปทำ ต่อมาในปี 2508 กฏหมายผู้อพยพของสหรัฐได้ยกเลิกระบบโควต้าและเปิดประตูรับผู้อพยพ พอมาสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐหวนกลับมาคุมเข้มการเดินทางเข้าประเทศของผู้อพยพอีกครั้ง รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศว่า สหรัฐจะยอมรับผู้อพยพไม่เกิน 15,000 คน ในปีหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ทั่วโลกจะมีปัญหาการพลัดถิ่นเพิ่มขึ้น โดยถือเป็นการเล่นบทแข็งกร้าวของทรัมป์ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศตัวเลขดังกล่าวก่อนเริ่มปีงบประมาณ 2564 เพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยตัวเลข 15,000 คน ถือเป็นการปรับลดเพดานการรับผู้อพยพสูงสุดจาก 18,000 คน เมื่อปีที่แล้ว และนับเป็นการลดลงอย่างมากจากกว่า 100,000 คน ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ ซึ่งชูนโยบายเรื่องการปฏิเสธผู้อพยพในการหาเสียง ได้ระงับการรับผู้ลี้ภัยทั้งหมดเป็นเวลาหลายเดือนในปีนี้ โดยอ้างเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อธิบายเรื่องการปรับลดจำนวนผู้อพยพที่จะรับเข้าประเทศลงว่า เป็นเพราะสหรัฐต้องการช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นให้อยู่ใกล้บ้านมากที่สุด จนกว่าพวกเขาจะกลับบ้านได้
กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ระบุด้วยว่า ข้อเสนอของประธานาธิบดีทรัมป์ในปีหน้า ถือเป็นการยืนหยัดความมุ่งมั่นของสหรัฐ ในการช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันก็เติมเต็มหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในการปกป้องและรับใช้ชาวอเมริกัน
แต่“คริช วิกนาราจาห์” ประธานลูเธอรัน อิมมิเกรชัน แอนด์ เรฟูจี เซอร์วิส ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐ มีหน้าที่ช่วยผู้อพยพลงหลักปักฐานในประเทศ มีความเห็นว่า การตัดสินใจลดจำนวนผู้อพยพที่ได้รับอนุญาตให้พำนักในสหรัฐเป็นการละทิ้งหน้าที่ทางคุณธรรมและคุณค่าทุกประการของประเทศอย่างสิ้นเชิง
การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศปิดชายแดนจึงทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมา เช่นในสหรัฐ ภาคการเกษตรในรัฐเท็กซัสและโอกลาโฮมาเจอปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงในฤดูกาลเก็บเกี่ยวในปีนี้และนับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมาบริหารประเทศ ฟาร์มต่างๆที่บริหารกันเองของคนในตระกูลประสบปัญหาจนถึงขั้นล้มละลายเพิ่มขึ้น โดยในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2562 มีฟาร์มต่างๆยื่นล้มละลาย 580 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 8%
สหพันธ์เกษตรกรอเมริกัน ระบุว่า แรงงานมีสัดส่วนประมาณ 35-48% ของต้นทุนการผลิต ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานจากแรงงานอพยพ ภาคการเกษตรยิ่งประสบปัญหาหนักขึ้นอีกทั้งกฏระเบียบการขอวีซ่าในขณะนี้เปิดโอกาสให้แรงงานอพยพที่จำเป็นเข้ามาทำงานในภาคการเกษตรได้ถึง 4%
ขณะที่ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ระบุว่า ในปี2562 ประชากรของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าเพิ่มขึ้น 7% หรือ 82 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2543 และในจำนวนนี้เป็นแรงงานอพยพจากชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ 35ล้านคน และในปีดังกล่าว จำนวนผู้อพยพจากชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่เข้าไปในชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าอยู่ที่ 91.7ล้านคน
ยูเอ็น ประเมินว่า ถ้าไม่มีผู้อพยพเลย ประชากรในชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป และจำนวนประชากรในปี 2573 จะมีจำนวนไม่ถึง 24 ล้านคนและจำนวนประชากรในปัจจุบันของประเทศเหล่านี้ซึ่งอยู่ที่ 1.3 พันล้านคนจะลดลงเหลือ 1.2 พันล้านคน ภายในปี 2593
ส่วนผลศึกษาของศาสตราจารย์สไตน์ วอลล์เซ็ต จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน บ่งชี้ว่า ภายในปี 2643 อัตราการเกิดในประเทศส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 2.1 หมายความว่าจำนวนประชากรจะลดลง พร้อมทั้งระบุว่า การดำเนินนโยบายเปิดเสรีผู้อพยพอาจจะช่วยบรรเทาปัญหาอัตราการเกิดประชากรต่ำได้และช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
ในญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้อพยพแค่2% และมีอัตราการเกิดใหม่ของประชากรต่ำ กำลังเจอปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่วนในเยอรมนี นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงประกาศว่า "ถ้าไม่มีแรงงานที่มีทักษะเข้ามามีส่วนร่วมในภาคธุรกิจ การดำเนินธุรกิจในเยอรมันก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ"