สธ.พัฒนา"สถานกักตัว"แบบใหม่รับต่างชาติ

สธ.พัฒนา"สถานกักตัว"แบบใหม่รับต่างชาติ

ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยวพำนักระยะยาว(Long Stay) นับเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่ประเทศไทยเปิดรับ หลังจากที่โรคโควิด19 แพร่ระบาดทั่วโลก ทว่า การคงมาตรการเฝ้าระวังนำเข้าเชื้อยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ควบคู่กับการพัฒนา “ระบบกักตัว”

เพื่อสร้างสมดุลในเชิงเศรษฐกิจและไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค ซึ่ง“Wellness Quarantine” เป็นหนึ่งในรูปแบบใหม่ที่จะมีการขับเคลื่อน ก่อนที่จะพิจารณาลดวันกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศจาก 14 วัน


คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(บอร์ดเมดิคัลฮับ) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)เป็นประธาน มีมติที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องกับการเปิดรับต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย คือ การเสนอให้เปิดสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ สมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต และอู่ตะเภา รับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศลงในพื้นที่ก่อนเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค.)พิจารณา และ แนวทางดำเนินการ Wellness Quarantine หลังจากที่ศบค.ชุดเล็กเห็นชอบในหลักการแล้ว


สำหรับ “Wellness Quarantine:WQ” หรือสถานกักกันในกิจการเพื่อสุขภาพ ที่จะเป็นการเปิดรับผู้ที่จะเข้ามารับการบริการบำบัด รักษาสุขภาพ(Medical Spa) การดูแลสุขภาพ(Wellness Retreat) และการดูแลระยะยาว(Long-Term Care) ในกิจการเพื่อสุขภาพและห้ามออกนอกบริเวณที่กำหนดอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งประเภทของสถานประกอบการที่จัดอยู่ในกลุ่มสถานกักกันรูปแบบนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 คือ Medical Spa Quarantine และ Long-Term Quarantine ระยะที่ 2 จะเป็นสถานที่กักกันในสนามกอล์ฟ(Golf Quarantine) และสถานที่กักกันในสปา(Spa Quarantine)


ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)จะต้องดำเนินการจัดทำแนวทาง/หลักเกณฑ์การดำเนินการพัฒนาสถานกักกันในกิจการเพื่อสุขภาพ ซึ่งในร่างแนวทางฯ อาทิ การกำหนดพื้นที่(Zoning)เพื่อเป็นพื้นที่กักกัน เช่น บริเวณคลินิก โรงแรม ร้านอาหาร ส่วนที่ทำกิจกรรม มีการวางแผนรองรับที่ชัดเจน ส่วนที่พัก บ้านเป็นหลักแยกออกจากกัน แบบซิงเกิลรูมกำหนดจำนวนผู้เข้าพัก โดยมีการแยกห้องต่างๆเป็นสัดส่วน


ระบบ Pathway เป็นเส้นทางที่ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปบพแพทย์ที่คลินิกตามจุดที่กำหนด โดยแยกจากระบบปกติ และต้องตรวจแล็ปหาโควิด 19 รวม 3 ครั้ง สถานประกอบการจะต้องจัดให้มีอุปกรณ์เพื่อติดตามลูกค้า เช่น นาฬิกา หรือWristband รวมถึง การมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบ มีการจ้างงาน ใช่วัสดุภายในชุมชน มีการช็อปปิ้งออนไลน์ หรือจัดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น ประมาณการนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในสิ้นธันวาคม 2563 ราว 5,000 คน สร้างรายได้ราว 195 ล้านบาท

160190385967
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ย้ำว่า การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามารับบริการในสถานที่กักกันรูปบบนี้จะดำเนินการตามขั้นตอนการเข้าประเทศเช่นเดิม ทั้งเอกสารหนังสือที่รับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อก่อโรคโควิด19 มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง เป็นต้น


ในส่วนของ “สถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก(Alternative Hospital Quarantine:AHQ)”ที่ศบค.อนุญาตให้ดำเนินการก่อนหน้านี้ โดยเป็นการให้ต่างชาติพร้อมผู้ติดตามเดินทางเข้ามารักษาตัวในสถานพยาบาลของประเทศไทย แต่ทั้งหมดจะต้องรักษาและกักตัวอยู่ภายในรพ.จนครบ 14 วัน ผลการดำเนินการ ณ วันที่ 2 ต.ค.2563 มีสถานพยาบาลเข้าร่วม 157 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาล 118 แห่ง และคลินิก 36 แห่ง มีชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาแล้ว 1,123 ราย เป็นผู้ป่วย 652 คน และผู้ติดตาม 471 คน สร้างรายได้ราว 114 ล้านบาท และที่จะเดินทางเข้ามาอีกราว 3,500 คน สร้างรายได้ราว 360 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม สถานที่กักกันทั้งหมดนี้ยังเป็นการมุ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังจ่ายสูงหรือไอเอ็นเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้รัดับหนึ่ง แต่อาจจะยังไม่ตอบโจทย์การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ

นายอนุทิน ยอมรับว่า การที่จะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ แต่การจะให้อยู่ในสถานที่กักตัวนานถึง 14 วัน ก็อาจจะมีความยาก คนทั่วไปก็ไม่มีมาเที่ยว เพราะถ้าเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงจะมีมากี่คน สิ่งที่ต้องการคือการเดินทางเข้ามาจำนวนมาก และได้มอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุขหาวิธีการที่จะลดการกักตัวจาก 14 วันเหลือลงมาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้