ถ้าการเมืองดี เราจะคุยเรื่องสถาบัน 'กษัตริย์' กันอย่างไร?

ถ้าการเมืองดี เราจะคุยเรื่องสถาบัน 'กษัตริย์' กันอย่างไร?

สรุปวงเสวนา ‘ถ้าการเมืองดี เราจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร’ โดยมี ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล และศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ร่วมวงเสวนา

ยิ่ง 'การเมืองไทย' ร้อนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ การพูดคุย การความคิดเห็น และการถกเถียงกันเพื่อหาทางออกก็ยิ่งจำเป็นมากเท่านั้น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา “#ถ้าการเมืองดี เราจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไรโดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่  ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี, .ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ตามมาด้วย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หัวหน้ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปใจความสำคัญที่เกิดขึ้นในวงเสวนาว่าทิศทางการวิจารณ์ "สถาบันกษัตริย์" ในมุมมองต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง

160197642047

รูปภาพจากประชาไท

  • การใช้สิทธิเสรีภาพต้องมาควบคู่กับ ความสงบ และศีลธรรมดีงาม

ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าการเมืองคงไม่มีวันดี ไม่มีใครที่จะถูกใจการเมืองไปทุกเรื่อง แต่ถ้าจะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ก็ขอให้พูดกันด้วยความเคารพ หลายคนก็อาจจะรู้สึกว่าเคารพใครกัน ก็คือเคารพประชาชน อำนาจที่สถาบันกษัตริย์มีก็มาจากประชาชนมอบให้ทั้งสิ้น

สถาบันกษัตริย์ไม่ได้เริ่มมีครั้งแรกในประเทศไทยแน่นอน หากดูในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าประเทศไหน ชาติไหนก็เคยมีกษัตริย์ เพียงแต่มีคำเรียกไม่เหมือนกัน ชุมชนในอดีตมีการเลือกผู้นำมาจัดสรรทรัพยากร จัดการกับความขัดแย้ง และมีหน้าที่บริหารจัดการกิจการต่างๆ ซึ่งผู้นำลักษณะนี้ ในบางช่วงเวลามักถูกพูดถึงให้เกินจริง มีความเป็นเทพบ้าง บุตรพระอาทิตย์บ้าง ชะตากรรมของประมุขแบบนี้ในที่ต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับคุณงามความดี หรือความเลวของสถาบันในประเทศนั้นๆ ที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์จากการกระทำ ทั้งความรุ่งเรือง ความล่มสลาย ไปจนถึงการสร้างสถาบันขึ้นมาใหม่ตามวัฏจักรของอารยธรรม

ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวว่า การใช้สิทธิเสรีภาพที่ได้รับประกันในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR นั้น ต้องดูว่ากระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือไม่

หากการแสดงออกของนักศึกษาหรือกลุ่มประชาชนในกรณีสถาบันกษัตริย์ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยในสังคม ก็เสนอให้มานั่งอภิปรายกันในห้องแบบนี้ดีกว่า

"การพูดถึงสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้ตามแต่ความเชื่อของท่าน โดยใช้เนื้อหาที่ท่านเชื่ออยู่ แต่ก็ควรจะตรวจสอบเนื้อหานั้นและวิธีการที่จะพูด บริบท หรือกาลเทศะ อย่างในเวทีหรือการอภิปรายกันในที่นี้ ผมเชื่อว่าเรามีความเป็นสุภาพชนพอที่จะพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล แต่ถ้าขึ้นเวทีหรือออกโซเชียลแล้วมีคนไม่พอใจ ท่านก็ต้องยอมรับผลกระทบตรงนั้นเอง" ผศ.นพ.ตุลย์กล่าว

  • 10 ข้อเรียกร้อง กับการคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อันดีงาม

ด้าน ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนก็ได้เห็นแล้วว่ามีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์มากขึ้นในสังคมไทย แม้การเมืองจะยังไม่ดี การพูดเรื่องนี้ก็จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นปกติในสังคมประชาธิปไตย การถกเถียงเป็นเรื่องสวยงาม

หนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ ทำไมสถาบันกษัตริย์ควรต้องปฏิรูป? เธอแสดงความเห็นว่าเพราะในปัจจุบันสถาบันกษัตริย์มีอำนาจมากล้นเกินไป มีกฎหมายหลายข้อที่เอื้อให้กษัตริย์มีอำนาจมาก แต่กฎหมายมีอำนาจด้อยกว่า เห็นได้จากข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 ส.ค.

"แนวคิดของข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ก็เพื่อจะลดอำนาจที่ล้นเกิน ให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกับประชาชน เพราะเราถือว่าสถาบันกษัตริย์ก็เป็นสถาบันหนึ่งในสังคม ที่ควรจะอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน"

1601985210100

  • กฎเกณฑ์ประชาธิปไตย คือเรื่องที่ควรสอดคล้องกันทั้งหมด

รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่าถ้าอนุมานว่าการเมืองที่ดีคือการเมืองในสังคมประชาธิปไตยที่ต้องผลักดันเสรีภาพในการคิด การแสดงออก ทำให้แต่ละคนอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งในท้ายที่สุดจะเกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิด  ก่อนที่จะเกิดฉันทามติหรือมติมหาชน ซึ่งมตินั้นวันหน้าก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเพราะเรามีเสรีภาพในการรณรงค์ทางความคิด โดยกระบวนการทั้งหมดอยู่บนการถกเถียง แลกเปลี่ยน ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง

ดังนั้น ถ้าการเมืองดี ก็สามารถพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดว่าการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์จะเป็นแบบไหน อย่างไร รวมถึงการพูดถึงรูปแบบการปกครองแบบอื่นก็ได้  อย่างในอังกฤษหรือสเปนที่ไปถึงขั้นตั้งพรรคการเมืองที่รณรงค์เรื่องนี้ ก็ต้องทิ้งประเด็นนี้เอาไว้ให้สังคมไทยคิดและตัดสินใจร่วมกันว่าเรามีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะไปถึงจุดนั้นหรือยัง

160198606713

  • ในอดีตก็เคยวิจารณ์สถาบันได้

ด้านธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์  เห็นว่า ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลเป็นหลัก ควรไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ได้ เพราะท่านแต่งตั้งคนไปทำอะไรต่างๆ ใช้ไม่ได้เลย ไม่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล อย่าเพิ่งไปเปิดศึกหลายด้าน สิ่งนี้ควรต้องทำให้ตรงประเด็นว่าปัญหาอยู่ที่รัฐบาล ตนเสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติ นักศึกษาก็ไม่เห็นด้วย แต่มองความเป็นไปได้ว่า ถ้าไล่พล.อ.ประยุทธ์ไปแล้ว ต้องมีคนกลางเข้ามา เพราะถ้าได้คนกลางที่เป็นที่ยอมรับจะช่วยจัดการปัญหาขณะนี้ และนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจหลัก

นอกจากนี้ ธีรภัทร์ยังเสนอให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมถึงอภัยโทษต่อผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพราะทุกวันนี้ไปด่ากันอยู่ต่างประเทศ ถ้าไม่อยากให้ด่าก็ต้องอภัยโทษ ต้องมีคำสั่งคล้ายคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ที่เคยใช้แก้ไขกรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งร้ายแรงกว่าพวกที่ด่า เพราะ พคท. มีอาวุธ มีกองทัพประชาชน ออกคำสั่งให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่เอาผิด 

“ถ้าเรามัวแต่อาฆาตแค้นกัน เคียดแค้นกัน จะเอาให้ตาย ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร การเมืองต้องเล่นอย่างสันติ มีคุณธรรม” ธีรภัทร์กล่าว

อีกทั้ง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองยังสรุปด้วยว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้นสามารถทำได้ แต่ต้องสุภาพ มีสติ อย่าใช้อารมณ์ อย่าใช้ข้อมูลที่อาจจะผิดพลาดได้ เพราะหลายเรื่องเราก็ไม่มีข้อเท็จจริง