‘Productivity’ ภูมิคุ้มกันที่ทุกธุรกิจต้องมี

‘Productivity’ ภูมิคุ้มกันที่ทุกธุรกิจต้องมี

ในช่วงที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญวิกฤติอย่างหนัก ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติโรคระบาด สิ่งสำคัญที่บรรดาธุรกิจต้องมีคือ Productivity หรือภูมิคุ้มกันทางธุรกิจที่ต้องเป็นเกราะป้องกัน สร้างความแข็งแกร่ง รับมือ 8 เมกะเทรนด์รูปแบบธุรกิจอนาคต

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำอย่างเป็นประวัติการณ์ องค์กรธุรกิจที่ยังคงรักษาความแข็งแรง อันเนื่องมาจากการมีเงินกองทุนสะสมมาตลอดในช่วงที่ทำกำไรได้ในอดีต มาช่วยพยุงและเสริมสภาพคล่องในจังหวะเวลาที่รายรับเข้ามาน้อยกว่ารายจ่าย มีความสามารถในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับช่องทางการค้าแบบใหม่ ที่อาจจะต้องผสมผสานทั้ง off-line และ on-line เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว 

ถ้าการจะชนะ COVID-19 ก็คือการพัฒนาวัคซีนทำให้คนมีภูมิคุ้มกัน Productivity ก็ถือเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องมี เพราะเมื่อสภาพเศรษฐกิจดีก็จะวิ่งได้เร็วกว่า และเมื่อเศรษฐกิจซบเซาก็จะเจ็บตัวน้อยกว่า

แท้จริงยังมีอีกนับไม่ถ้วนที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในช่วงระยะเวลานี้ “สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ” ได้ทำการศึกษาวิจัยสถานการณ์แวดล้อมในปัจจุบัน เพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาคธุรกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า

และพบว่าปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ มลภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การขาดแคลนทรัพยากร กฎระเบียบโลก สงครามการค้า กระแสสังคม เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีการสื่อสาร ความสามารถของคอมพิวเตอร์ ความตระหนักและพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ และการขาดแคลนแรงงาน โดยปัจจัยเหล่านี้จะผลักดันให้การดำเนินธุรกิจในอนาคตอาจเปลี่ยนไปใน 8 รูปแบบ หรือ “8 เมกะเทรนด์ รูปแบบธุรกิจอนาคต” ได้แก่

1.การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Neo-Ecological Business)

“สินค้าและบริการที่นำเสนอภาพลักษณ์ของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคในวงกว้าง” การดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ผู้ประกอบการต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงจะได้รับการยอมรับจากสังคมและผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุที่ Recycle ได้ กระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงานหรือลดการปล่อยมลพิษ หรือการดำเนินธุรกิจเพื่อสนับสนุน Circular Economy

2. การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม (Ethical Business Operation)

“องค์กรที่ยึดมั่นในความสุจริต โปร่งใส และมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ จะได้รับการสนับสนุนและการปกป้องจากภาคประชาสังคม” การดำเนินธุรกิจนับจากนี้ ต้องมุ่งเน้นความซื่อสัตย์สุจริต แสดงความโปร่งใสในการดำเนินงาน การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยความยุติธรรม เสมอภาค และไม่เอารัดเอาเปรียบ หากมีประเด็นที่สร้างความไม่พอใจของสังคมเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจจนต้องปิดกิจการ จริยธรรมในการเนินธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรต้องนำไปปฏิบัติ ไม่เพียงจะช่วยปิดโอกาสในการถูกต่อต้านจากกระแสสังคมแล้ว หากธุรกิจต้องประสบปัญหาที่ไม่คาดคิดก็จะได้รับการสนับสนุนและปกป้องจากภาคประชาสังคมอีกด้วย

3.รูปแบบธุรกิจดิจิทัล (Everything-As-A-Service)

“การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจจาก “การผลิตสินค้าเพื่อขาย” มาเป็น “การให้บริการสินค้า” จะสามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี” ในอนาคตความต้องการครอบครองสินทรัพย์ของผู้บริโภคจะลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันของการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้สินค้ามีต้นทุนที่สูงมาก รวมถึงผู้บริโภคมีความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นการนำเสนอสินค้าในรูปแบบของการบริการ เช่น การเช่า (Lease) การจ่ายตามการใช้งานจริง (Pay-per-use หรือ Subscription) จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ลงตัวสำหรับบริบทในอนาคต แต่การจะปรับรูปแบบธุรกิจจากการผลิตเพื่อขายมาเป็นการให้บริการ องค์กรจำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและพัฒนาระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ

4.การปฏิสัมพันธ์ผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Touch Point)

“การพัฒนาช่องทางเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น” ช่องทางการติดต่อระหว่างผู้บริโภคและผู้ขายในอนาคตจะเปลี่ยนไปสู่ Online Platform โดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การใช้บริการ รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างลูกค้ากับธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะสร้างความสะดวกรวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันเวลาแล้ว Digital Touch Point ยังช่วยให้องค์กรสามารถรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า เพื่อนำไปวิเคราะห์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า รวมถึงการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่โดนใจลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้เป็นอย่างดี

ครั้งหน้าจะมาลงรายละเอียดอีก 4 รูปแบบที่เหลือ พร้อมกับแนวทางและวิธีการเพื่อยกระดับจากองค์กรที่มีผลิตภาพสูง สู่การเป็นองค์กรที่ปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ (Adaptive Organization)

ศาสตร์ด้านการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) คำนึงถึงแนวโน้มที่มีเหตุการณ์และตัวเลขเชิงสถิติสนับสนุนรวมถึงความไม่แน่นอน (Uncertainty) นอกจาก COVID-19 มีปัจจัยอื่นอีกนับไม่ถ้วนที่อาจผลักดันให้เกิดสถานการณ์ที่เราไม่อาจจินตนาการอนาคตได้

ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ทำการศึกษาวิจัยสถานการณ์แวดล้อมในปัจจุบันเพื่อคาดการณ์ปัจจัยภายนอกที่จะมีบทบาทสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาคธุรกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ มลภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การขาดแคลนทรัพยากร กฎระเบียบโลก สงครามการค้า กระแสสังคม เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีการสื่อสาร ความสามารถของคอมพิวเตอร์ ความตระหนักและพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ และการขาดแคลนแรงงาน ทั้งหมดผลักดันให้การดำเนินธุรกิจในอนาคตอาจเปลี่ยนไปใน 8 รูปแบบ หรือ “8 เมกะเทรนด์ รูปแบบธุรกิจอนาคต” ในครั้งที่ผ่านมาได้นำเสนอไปแล้ว 4 รูปแบบ ครั้งนี้จะมานำเสนอ 4 รูปแบบที่เหลือ ดังนี้

5.ห่วงโซ่อุปทานรายย่อย (Micro Supply Chain)

“ความบริหารความเสี่ยงของธุรกิจขนาดใหญ่ด้วยการลดการพึ่งพาผู้ส่งมอบหลักไม่กี่ราย สร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่มีศักยภาพทั่วทุกมุมโลก ผ่านโครงข่ายการสื่อสารและการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ” ระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อสร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจของโลกมีความเปราะบางมากขึ้นเช่นกัน ปัญหาหรือวิกฤติการณ์ที่ก่อตัวขึ้นในระดับประเทศสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ในชั่วพริบตา ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดใหญ่จึงต้องพยายามลดความเสี่ยงของตนเองด้วยการสร้างเครือข่ายผู้ส่งมอบที่หลากหลายเพื่อบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยในฐานะของผู้ส่งมอบที่มีศักยภาพ

6.การผลิตอัจฉริยะ (Smart Production)

“ธุรกิจที่นำแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทของตนเอง จะทำให้กระบวนการผลิตมีความยืดหยุ่น ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างฉับไว” ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในด้านประสิทธิภาพหรือความสามารถ ขณะที่การเข้าถึงเทคโนโลยีมีต้นทุนที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้องค์กรตัดสินใจนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการในหลายด้าน ทั้งการจ้างแรงงาน การพัฒนาทักษะของพนักงาน หรือการจัดการข้อมูลสารสนเทศ ระบบการผลิตอัจฉริยะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำองค์กรไปสู่รูปแบบธุรกิจดิจิทัลในท้ายที่สุด

7.การตัดสินใจด้วยข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ (Big Data Analytic & AI)

“การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเครืองมือที่สำคัญที่องค์กรยุคใหม่ใช้ค้นหาโอกาสทางธุรกิจ สร้างความแตกต่างในสินค้าและบริการ ทั้งสร้างนวัตกรรมที่เหนือความคาดหมาย”ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถแจ้งเกิดและยกระดับขึ้นมาเทียบเคียงบริษัทยักษ์ใหญ่ได้โดยใช้ Big Data เป็นอาวุธคู่กาย การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่สามารถใช้ได้ในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็น การจับพฤติกรรมลูกค้า การค้นหาส่วนแบ่งตลาดใหม่ๆ การอ่านใจคู่แข่ง การวางจุดขายของตัวเอง รวมถึงเฝ้าระวังความเสี่ยงหรือภัยคุกคามที่มองไม่เห็น

8.การจ้างงานที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ (On-Demand Workforce)

“การกำหนดรูปแบบการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่น จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ และยังสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ รวมถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น” ปัจจัยภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงเหนือความคาดหมาย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างรวดเร็วและรุนแรง ผู้ประกอบการต้องพยายามลดผลกระทบลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้และต้องฟื้นตัวให้เร็วที่สุด ส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่รอดคือ การบริหารจัดการแรงงานที่มีความยืดหยุ่นสูงแต่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนอง Life Style ของแรงงานยุคใหม่ด้วย การจ้างแรงงานประจำจึงอาจถูกแทนที่ด้วยการจ้างรูปแบบใหม่ๆ เช่น การจ่ายค่าตอบแทนตามจำนวนชิ้นงานหรือตามเวลาการทำงานแต่มีกลยุทธ์ในการจูงใจแรงงานไว้กับองค์กร เช่น Loyalty Program

ผลของการศึกษาวิจัยดังกล่าวอาจช่วยให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในอนาคตและเตรียมปรับตัว แต่ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ อีกมากที่จะสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัว อาทิ เทคโนโลยีที่มีความสามารถเหนือมนุษย์ในทุกด้าน (Technological Singularity), กระแสการต่อต้านเทคโนโลยี (Technological Denial), สถานการณ์ที่ระบบการสื่อสารเป็นอัมพาต (Communication Lockdown หรือ Cyber COVID) และ มนุษย์มีอายุขัยยืนยาวถึง 100 ปี (The Century Life Span)

สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดสำหรับองค์กรในโลกแห่งความไม่แน่นอน คือ การมีผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งจะช่วยทำให้องค์กรมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง (Strong Foundation) สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความไม่แน่นอนต่างๆ ได้ อย่างฉับไว