‘เจพีมอร์แกน’ ลุ้นศก.ไทยติดลบแค่ 3% ย้ำธุรกิจเร่งปรับสู่ยุคใหม่

‘เจพีมอร์แกน’ ลุ้นศก.ไทยติดลบแค่ 3% ย้ำธุรกิจเร่งปรับสู่ยุคใหม่

‘เจพีมอร์แกน’ คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจติดลบเพียง 3% จากเดิมที่คาดไว้ลบ 9-10% หลังคุมโควิด-19 ได้ดี แต่ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเข้ากับยุคใหม่ พร้อมกระตุ้นรัฐบาลส่งเสริมมากขึ้น

นายชโยทิต กฤษดากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธนาคารเจพีมอร์แกนเชส และบริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในไตรมาส 3 จะเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจไทยจะไปในทิศทางใด หลังจากที่เริ่มเปิดเมืองในแต่ละส่วน ซึ่งปัจจุบันเจพีมอร์แกนเชสคาดการณ์จีดีพีของไทยติดลบน้อยกว่าเดิมอยู่ที่ติดลบ 3% ซึ่งเป็นการติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 9-10% ในช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะแรก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยติดลบน้อยลง เนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ค่อนข้างดีมาก จึงมีความได้เปรียบในแง่ของเวลาที่จะเตรียมตัวเพื่อฟื้นเศรษฐกิจกลับมา

“ปัจจุบันเรามีแต้มต่อในเรื่องของเวลาที่ใช้เตรียมตัวมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่ยังวุ่นวายกับการควบคุมโควิด-19 แต่ต้นทุนเวลาที่มีนี้จะค่อยๆ หายไป หากเราไม่เร่งดำเนินการ อย่างเช่น การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ หรือการปรับตัวของภาคเอกชนไปสู่เศรษฐกิจใหม่ (New Economy)”

ทั้งนี้ จะเห็นว่าธุรกิจที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) จะเป็นผู้ที่ได้รับผลบวกจากวิกฤติครั้งนี้ อาทิ บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐ หรือแม้แต่บริษัทในกลุ่มประเทศเกิดใหม่เช่นกัน ซึ่งจะเห็นว่าเติบโตได้ไม่แพ้บริษัทในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ด้านตลาดทุน ตัวเลขในไตรมาส 3 จะช่วยสะท้อนภาพของธุรกิจต่างๆ โดยประเมินว่าธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวน่าจะยังไม่ดีนัก ส่วนสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคอาจจะเห็นการฟื้นตัวได้ คงต้องรอติดตามตัวเลขกันต่อไป

“โดยภาพรวมตลาดหุ้นไทยดีกว่าหลายตลาดในอาเซียน แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจเดิม และยังไม่เห็นการเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจใหม่เท่าใดนัก ในอดีตเราเคยเป็นโรงงานของโลกด้วยความได้เปรียบด้านแรงงาน หากเรายังขยับไปจากจุดนี้ไม่ได้ ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยจะค่อยๆ ลดลงไป ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าเอกชนไทยเก่งพอที่จะปรับตัวให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้”

ขณะเดียวกันจะเห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีของไทยยังมีไม่มากนัก ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งผลักดันในด้านนี้ หรืออาจจะใช้วิธีการดึงเอาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย จะช่วยยกระดับภาคธุรกิจของไทยมากขึ้น

พร้อมกันนี้ เจพีมอร์แกนได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ที่อ้างอิงกับดัชนีแสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ 500 (S&P500 warrants) โดยสามารถซื้อขายได้ตามเวลาทำการของตลาดหุ้นไทย โดยหลักทรัพย์ดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า E-mini S&P500

“ก่อนหน้านี้ นักลงทุนไทยลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก การมีผลิตภัณฑ์ให้กระจายความเสี่ยงถือเป็นเรื่องดีต่อนักลงทุนไทย โดยปัจจุบันเจพีมอร์แกนมีมาร์เก็ตแชร์ติด 1 ใน 3 สำหรับมูลค่าการซื้อขายของ DW ในไทย โดยเรามีความเชี่ยวชาญในตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ออก DW ที่อ้างอิงกับตลาดหุ้นฮ่องกง ในอนาคตก็อาจจะมี DW ที่อ้างอิงกับตลาดหุ้นจีน หรือเกาหลีใต้เพิ่มเติม”

ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายของ DW สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันนักลงทุนไทยเริ่มมองหาทางเลือกการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เดิมที DW ที่อิงกับ SET50 จะมีมูลค่าซื้อขายกว่า 50% ของมูลค่าทั้งหมด ปัจจุบันก็เริ่มเห็นสัดส่วนของ DW ที่อ้างอิงกับตลาดต่างประเทศมีมูลค่ามากขึ้น

นอกจากนี้ การเลือกหุ้นเพื่อลงทุนในช่วงนี้ นักลงทุนควรเน้นเลือกหุ้นที่เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม แต่ที่สำคัญคือบริษัทนั้นๆ จะต้องมีส่วนร่วมใน New Economy ด้วย เพราะบริษัทที่ยังทำธุรกิจแบบเดิมอาจมีแนวโน้มไม่ดีนัก