น่าห่วง! ประชากรสัตว์ป่าโลกลดฮวบ กว่า 2 ใน 3 ช่วง 5 ทศวรรษ

น่าห่วง! ประชากรสัตว์ป่าโลกลดฮวบ กว่า 2 ใน 3 ช่วง 5 ทศวรรษ

WWF เผย ประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลาทุกสายพันธุ์ทั่วโลก กว่า 2 ใน 3 ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา คู่ขนานไปกับการเสื่อมสลายของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และการเกิดขึ้นของโรคระบาดใหม่ โควิด-19

กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF International) สำนักงานใหญ่ เปิดเผยข้อมูล "ที่น่าตกใจแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่" อีกครั้ง พบว่า ประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลาทุกสายพันธุ์ทั่วโลก กว่า 2 ใน 3 ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา คู่ขนานไปกับการเสื่อมสลายของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และการเกิดขึ้นของโรคระบาดใหม่ โควิด-19

ดัชนีจากรายงานสิ่งแวดล้อมโลก หรือ The Living Planet Index ที่สนับสนุนข้อมูลจากสมาคมสัตว์วิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London – ZSL) ชี้ให้เห็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโอกาสของโรคระบาด ที่เพิ่มมากขึ้นในโลก อาทิ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่แบบผิดประเภท การค้าขายสัตว์ป่า ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้เป็นสาเหตุหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึง 68% ที่ทำให้เกิดการลดลงของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลกในอัตราที่รวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 2513-2559

“รายงานสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ เน้นย้ำให้เห็นว่าการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ ก่อนให้เกิดผลกระทบที่มากมายมหาศาล ไม่ใช่เพียงแค่ต่อชีวิตของสัตว์ป่า หากแต่วันนี้ภัยได้คืบคลานมาถึงสุขภาพของมนุษย์เอง และยังส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตของเราทุกคนด้วย” มาร์โค แลมเบอร์ตินี่ ผู้อำนวยการทั่วไป WWF International กล่าว

“เราไม่อาจมองข้ามเรื่องราวเหล่านี้ไปได้ การเสื่อมถอยลงของสภาพธรรมชาติ และสัตว์ป่าหลายสายพันธุ์เป็นตัวชี้วัดที่มีนัยสำคัญที่บอกได้ว่า โลกของเรามีสุขภาวะที่ไม่ดี และระบบนิเวศกำลังจะล้มเหลว ตั้งแต่ปลาในมหาสมุทรและแหล่งน้ำจืด จนถึงผึ้งตัวจิ๋ว ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างระบบเกษตรกรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ การลดลงของประชากรสัตว์ป่าที่ส่งผลไปถึงระบบความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ และความเป็นอยู่ของประชากรโลกนับพันล้านคน”

159973327093

แลมเบอร์ตินี่ กล่าวอีกว่า ขณะที่ทั่วโลกกำลังอยู่ท่ามกลางการระบาดของโรคสายพันธุ์ใหม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างความร่วมมือกันในระดับโลกเพื่อเป้าหมายในการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการสูญเสียระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเสียใหม่ โดยหยุดยั้งการเสื่อมถอยของธรรมชาติลงให้ได้ภายในทศวรรษนี้ รวมถึงปกป้องสุขภาพของมนุษย์ เพราะความอยู่รอดของมนุษย์ในอนาคตขึ้นอยู่กับวิถีการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

รายงานสิ่งแวดล้อมโลก The Living Planet Report 2020 เสนอภาพรวมของสถานะปัจจุบันเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของโลก ซึ่งพิจารณาจากความหลากหลายทางชีวภาพ ปริมาณประชากรสัตว์ป่าและการกระจายตัว รวมทั้งได้รับการตรวจสอบข้อมูล และสนับสนุนข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 125 คนทั่วโลก รายงานได้แสดงให้เห็นถึงสาเหตุหลักที่ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ตกอยู่ในสภาวะอันตราย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย อาทิ การทำลายป่า เพื่อนำพื้นที่ไปใช้ในการปลูกพืชที่เป็นอาหารสัตว์ หรือนำไปเข้าสู่สายโซ่อุปทานของกระบวนการบริโภคของมนุษย์

สัตว์ป่าที่กำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ได้แก่ กอริลลาที่อาศัยในพื้นที่ราบต่ำ เช่น ที่อุทยานแห่งชาติ Kahuzi-Biega ในสาธารณรัฐคองโก ซึ่งมีรายงานว่าประชากรได้ลดลงถึงกว่า 87% นับตั้งแต่ปี 2538-2558 โดยปัจจัยคุกคามหลักมาจากการล่าสัตว์ผิดกฎหมาย และนกแก้วแอฟริกันเกรย์ที่มีถิ่นอาศัยทางตะวันตกเฉียงใต้ของกานา ซึ่งปริมาณประชากรลดลงมากกว่า 99% ในช่วงที่ทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2535-2557 สาเหตุหลักจากการจับนกสายพันธุ์หายากเพื่อนำไปขายในตลาดค้านก และการสูญเสียพื้นที่ป่า

ดัชนีจากรายงานสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ สำรวจจากประชากรสัตว์ป่ากว่า 21,000 ตัว มากกว่า 4,000 สายพันธุ์ ข้อมูลระบุว่า ประชากรสัตว์ที่พบในแหล่งน้ำจืดลดลงกว่า 84% คิดเป็นค่าเฉลี่ยในการลดลงต่อปีที่ 4% โดยตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ประชากรปลาสเตอเจียนในแม่น้ำแยงซีของจีนกว่า 97% ระหว่างปี 2525-2558 โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการสร้างเขื่อนที่ทำให้การเดินทางของน้ำเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรมชาติ

159973273954

“ดัชนีที่ได้จากรายงานสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีการวัดผลที่เข้าใจง่าย และชัดเจนที่ทำให้เราเห็นสภาพของความหลากหลายทางชีวภาพของโลกยุคปัจจุบัน” ดร.แอนดรูวส์ เทอร์รี่ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ของสมาคมสัตว์วิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) กล่าว

ดร.เทอร์รี่ เสริมว่า ในรอบ 50 ปีที่อัตราการเสื่อมถอยของสภาพธรรมชาติเฉลี่ยอยู่ที่ 68% นั้นถือเป็นตัวเลขวิกฤติ และแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ส่งผลโดยตรงถึงสภาพธรรมชาติ

"หากมนุษย์ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือความคุ้นชินเหล่านี้ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็จะลดจำนวนลงอย่างมืต้องสงสัย สัตว์ป่าหลายสายพันธุ์จะถูกคุกคามจนสูญพันธุ์ และจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา และเรารู้ดีว่า การทำงานอนุรักษ์นั้นสามารถเรียกคืนสมดุลธรรมชาติได้ หากทุกคนมีความตั้งใจ ร่วมมือกัน และลงทุนลงแรง ทุกอย่างก็ยังคงไม่สายเกินไป"

รายงานสิ่งแวดล้อมโลก 2020 ยังนำเสนอรูปแบบของการทำงานอนุรักษ์เพื่อหยุดยั้ง และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่กำลังเสื่อมโทรม จากงานวิจัย “บูรณาการกลยุทธ์เพื่อคืนกลับความหลากหลายทางชีวภาพ” ซึ่ง WWF และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอีกกว่า 40 องค์กรรวมถึงสถาบันการศึกษาได้มีการทำแบบทดสอบจำลอง ซึ่งให้ผลชัดเจนว่าการปกป้องรักษาสมดุลธรรมชาติจะเป็นไปได้ และธรรมชาติจะฟื้นฟูได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความพยายามในการอนุรักษ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจกรรมที่มีผลต่อวิธีการผลิตและบริโภคอาหาร

รายงานสิ่งแวดล้อมโลกปี 2020 เล่มนี้เปิดตัวก่อนหน้าการประชุมสภาผู้นำองค์การสหประชาชาติครั้งที่ 75 ซึ่งผู้นำแต่ละประเทศ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ คาดหวังจะเห็นผลสัมฤทธิ์ของการทำงานภายใต้เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals รวมทั้งสนธิสัญญาปารีส และ การประชุมด้านชีวภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพ การประชุมสุดยอดผู้นำขององค์การสหประชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ทั้งภาคธุรกิจ และภาครัฐจำเป็นที่จะต้องรัยบพันธกิจร่วมกันในการกำหนดทิศทางการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกคนจะต้องปฏิญาณเข้าร่วมพันธสัญญาใหม่ของมนุษย์ กับธรรมชาติ ด้วย

แลมเบอร์ตินี่ ระบุว่า “การชะลอกราฟความเสื่อมถอย” ที่กำลังพุ่งสูงขึ้น จะทำให้เห็นปรากฏการณ์ของการอนุรักษ์ที่กำลังเข้ามาสอดแทรกการทำลายธรรมชาติ

“นี่คือความหวังที่เราจะได้เห็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ถูกส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป และบรรดาผู้นำของโลกเองก็ต้องช่วยกันส่งเสริมการทำงานอนุรักษ์ ทำให้ระบบอาหารของโลกมีความยั่งยืน ลดทอนปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นต้นกำเนิดของปัญหามากมายบนโลก”