ทรัมป์ปลื้มติดโผชิง‘โนเบลสันติภาพ’ปีหน้า

ทรัมป์ปลื้มติดโผชิง‘โนเบลสันติภาพ’ปีหน้า

ประธานาธิบดีทรัมป์ ปลาบปลื้มมากที่ ส.ส.ฝ่ายขวานอร์เวย์เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสันติภาพ ประจำปี 2564 ลูกเขยชมเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ทวีตข้อความ “ขอบคุณ” และรีทวีตรัวๆ อย่างครื้นเครงที่นายคริสเตียน ทีบริง เจดเด ส.ส.นอร์เวย์ เสนอชื่อเขาเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2564 จากบทบาทที่เขาเป็นตัวแทนช่วยเจรจาจนอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ทำข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ถือเป็นข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดความหวังว่าจะมีข้อตกลงแบบเดียวกันกับประเทศอาหรับอื่นๆ นำไปสู่สันติภาพของตะวันออกกลางในท้ายที่สุด

ส.ส.รายนี้สังกัดพรรคก้าวหน้า ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาต่อต้านการย้ายถิ่น ทั้งยั้งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศและกลาโหมของสภานอร์เวย์ด้วย

เมื่อปี 2561 นายทีบริง เจดเด เคยร่วมกับเพื่อน ส.ส. เสนอชื่อทรัมป์รับรางวัลโนเบลสันติภาพมาแล้ว จากการนำสหรัฐเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนืออีกรอบ แต่ความพยายามของเหล่า ส.ส.นอร์เวย์ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาการกระชับสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือกลับไม่คืบหน้า

สำหรับรางวัลโนเบลแต่ละปีมีผู้ได้รับการเสนอชื่อหลายร้อยคน สถาบันโนเบลนอร์เวย์เปิดกว้างรับทุกชื่อที่ส่งมาไม่เกินวันที่ 31 ม.ค. ของปีนั้น คนที่มีสิทธิเสนอชื่อมีหลายกลุ่ม รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาของนอร์เวย์

ทีบริง เจดเด กล่าวเสริมว่า ทรัมป์เหมาะจะได้รับรางวัลมากกว่าหลายๆ คนที่เคยได้ เพราะเขาเป็นคนผ่าทางตันระหว่างอิสราเอลกับมหาอำนาจอาหรับ

“ รางวัลโนเบลสันติภาพมอบให้กับผู้มีบทบาทสำคัญในข้อตกลงแคมป์เดวิดปี 2521 หรือข้อตกลงออสโลปี 2536 มาแล้ว   ข้อตกลงล่าสุดนี้อย่างน้อยๆ ก็เป็นการปฏิวัติสำหรับตะวันออกกลาง” ผู้เสนอชื่อกล่าวและว่า คณะกรรมการโนเบลไม่ควรรวนเรกับสไตล์โผงผางของทรัมป์

“สำหรับผู้รับรางวัลโนเบล ไม่ว่าจะเป็นสาขาวรรณกรรมหรือเคมี ไม่เห็นใครสนใจบุคลิก บุคลิกไม่ใช่ตัวตัดสินว่าใครจะได้รางวัล แต่เป็นความสำเร็จของคนๆ นั้นในการสร้างสันติภาพให้โลก” ส.ส.นอร์เวย์ย้ำ 

โดยปกติสถาบันโนเบลจะไม่ให้ความเห็นเรื่องผู้ได้รับการเสนอชื่อ ที่ผ่านมาคณะกรรมการหลายคนในองค์คณะ 5 คน เคยแสดงความเห็นเชิงลบต่อทรัมป์

แม้แต่เจ้าตัวเองก็เคยโอดครวญว่า เขาถูกมองว่าไม่เหมาะสมกับรางวัลโนเบลสันติภาพ ไม่เหมือนประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติตั้งแต่เริ่มเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2552

“พวกเขามอบรางวัลให้โอบามา เจ้าตัวไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำอะไรมาถึงได้ เขาไปที่นั่นราว 15 วินาที แล้วก็ได้รางวัลโนเบล เผลอๆ ผมนี่อาจจะไม่ได้เลยก็ได้” ทรัมป์กล่าวเมื่อปีก่อน

ด้านจาเรด คุชเนอร์ บุตรเขยทรัมป์ ที่ปรึกษาทำเนียบขาวว่า เป็นเกียรติต่อประธานาธิบดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการเสนอชื่อ

“พันธมิตรสหรัฐทุกรายรู้สึกใกล้ชิดสหรัฐขึ้นมาก และตอนนี้พวกเขายิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถขจัดอุปสรรคที่ประชาชนเคยคิดว่าทำลายไม่ได้ นี่จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังอย่างแท้จริงในตะวันออกกลาง” คุชเนอร์กล่าว