ปิดฉากฮันนีมูนเยอรมนี-จีนด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ 'อินโด-แปซิฟิก'

ปิดฉากฮันนีมูนเยอรมนี-จีนด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ 'อินโด-แปซิฟิก'

ปิดฉากฮันนีมูนเยอรมนี-จีนด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ “อินโด-แปซิฟิก” และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ช่วยเปิดตลาดจีนให้กว้างขึ้นอย่างที่เยอรมนีหวัง บริษัทเยอรมนีที่เข้าไปลงทุนในจีนถูกบังคับให้ส่งมอบเทคโนโลยีให้รัฐบาลจีน

หลังจากพยายามดำเนินตามยุทธศาสตร์เอเชียกับประเทศรอบๆจีนมานานหลายปี เยอรมนีก็แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งกับประเทศหรือดินแดนที่มีประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้เท่านั้น ซึ่งรวมถึง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้เพื่อสนับสนุนหลักนิติธรรม ซึ่งการปรับเปลี่ยนจุดยืนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกถึงอันตรายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่ายุโรปพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากเกินไป ขณะที่จีนเป็นประเทศที่มีจุดด่างพร้อยในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“เราอยากช่วยจัดระเบียบโลกในอนาคตบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ใช่การใช้กฏหมายขั้นรุนแรง ด้วยเหตุนี้ เราจึงร่วมมืออย่างแข็งขันกับประเทศต่างๆที่พร้อมจะแบ่งปันค่านิยมในรูปแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยกับเรา ”ไฮโก มาสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี กล่าวเมื่อวันที่ 2 ก.ย.

ในวันดังกล่าว เยอรมนี ได้ประกาศรับรองนโยบายใหม่ที่ครอบคลุมถึงการปฏิบัติต่อประเทศในกลุ่มอินโด-แปซิฟิก โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมและสนับสนุนการเปิดตลาดในภูมิภาค ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และบรรดาชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

ที่ผ่านมา จีน ถือเป็นประเทศที่รัฐบาลเยอรมนีให้ความสำคัญในทางการทูตอย่างมาก ดูได้จากการที่“แองเกลา แมร์เคิล”นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเดินทางเยือนจีนเกือบทุกปี ประกอบกับจีนเองมีปริมาณการค้ากับเยอรมนีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในสัดส่วน 50%

แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ช่วยเปิดตลาดจีนให้กว้างขึ้นอย่างที่เยอรมนีหวังเอาไว้ บรรดาบริษัทเยอรมนีที่เข้าไปลงทุนในจีนถูกบังคับให้ส่งมอบเทคโนโลยีให้รัฐบาลจีน ขณะที่การเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาด้านการลงทุนระหว่างสหภาพยุโรป(อียู)และจีนก็ไม่มีความคืบหน้าเพราะติดที่ปัญหาเรื่องนี้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลในกลุ่มบริษัทเยอรมนีและรัฐบาลเยอรมนีว่าเศรษฐกิจโลกพึ่งพาจีนมากเกินไป

สิ่งที่เยอรมนีวิตกกังวลเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้่นเกี่ยวกับกฏหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของจีนที่ใช้กับฮ่องกงและศูนย์กักกันชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในเยอรมนี โดยเฉพาะนโยบายสนับสนุนจีนของนายกรัฐมนตรีแมร์เคิล

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ใหม่อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลเบอร์ลิน ดำเนินแนวทางที่แข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องกับดักหนี้ของประเทศต่างๆที่เข้าร่วมในโครงการริเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ)ของรัฐบาลปักกิ่ง

นอกจากนี้ บริษัทจีนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำธุรกิจและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในจีน โดยเฉพาะหลังจากบริษัทไมเดีย กรุ๊ป ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่เข้าซื้อกิจการบริษัทคูคา ผู้ผลิตหุ่นยนต์สัญชาติเยอรมนีช่วงปลายปี 2559 แต่บริษัทเยอรมันก็ไม่กล้าเมินเฉยตลาดใหญ่อย่างจีน โดยประมาณ 40% ของรถยนต์โฟล์คสวาเกนที่ขายเมื่อปีที่แล้ว เกือบ 30% ที่เป็นรถเดมเลอร์และบีเอ็มดับเบิลยูเป็นรถที่ส่งขายไปตลาดจีน

เฮอร์เบิร์ต ดิเอสส์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)โฟล์คสวาเกน บอกว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่สำคัญที่สุด และเมื่อเดือนพ.ค.ค่ายรถยนต์แห่งนี้ ตกลงที่จะถือหุ้น50% ในบริษัทเจเอซี มอเตอร์ส ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ พร้อมทั้งพยายามปกป้องโรงงานรถยนต์ของบริษัทในซินเจียง อุยกูร์ ที่กำลังมีปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม โฟล์คสวาเกน ไม่ใช่บริษัทเดียวที่จริงจังกับการดำเนินธุรกิจในจีน หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวเรื่องการปล่อยไอเสียในตลาดสหรัฐและปัญหาความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยกับทาทา มอเตอร์ส ในอินเดีย เพราะเดมเลอร์และบีเอ็มดับเบิลยู ก็มองตลาดจีนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดยุโรปหลายแห่งยังคงคุมเข้มเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 และที่ผ่านมา เดมเลอร์ได้ออกโฆษณาเพื่อขอโทษกรณีที่บริษัทโค้ดคำพูดของดาไลลามะเมื่อปี 2561

ส่วนบริษัทบีเอเอสเอฟ ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำของโลก กำลังสร้างโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์แห่งที่2 ในจีนในมณฑลกวางตุ้ง โดยตั้งเป้าให้โรงงานนี้แล้วเสร็จในปี 2573และใช้ทุนก่อสร้างทั้งหมดจำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์

“แพทริก โคห์ลเนอร์” จากสถาบันเพื่อโลกและการศึกษาแห่งเยอรมนี มีความเห็นว่า เมื่อปี 2562 อียู ระบุว่า จีนเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ และให้ความสำคัญ รวมทั้งระแวดระวังในการดำเนินการค้าและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับจีน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและหลายประเทศในยุโรปไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

ทั้งนี้ เยอรมนี มีแผนที่จะทำงานร่วมกับฝรั่งเศสในการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกอย่างกว้างๆของอียู และรัฐบาลเบอร์ลินยังตั้งเป้าเพิ่มอิทธิพลของตนเองในประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นในกลุ่มอียู

ทุกวันนี้ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เริ่มกันหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนออกจากเครือข่าย5จีของประเทศตนเอง ทำให้“หวัง อี้”รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ต้องเดินทางทัวร์ยุโรปเมื่อไม่นานมานี่้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประเทศต่างๆแต่กลายเป็นว่าการทัวร์ครั้งนี้ กลับตอกย้ำความบาดหมางระหว่างจีนและยุโรปมากขึ้น