เปิดเอกสารเพนตากอน 'จีน' แผ่อิทธิพลตั้งฐานทัพในเอเชีย

เปิดเอกสารเพนตากอน 'จีน' แผ่อิทธิพลตั้งฐานทัพในเอเชีย

กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยรายงานประจำปีที่เสนอต่อสภาคองเกรสบ่งชี้ว่ารัฐบาลปักกิ่งเตรียมตั้งที่มั่นทางทหารในไทยและอีกหลายชาติในภูมิภาคเอเชีย ติดตามรายละเอียดได้จากรายงาน

รายงานพัฒนาการด้านการทหารและความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน 2020 ความยาว 200 หน้า บ่งชี้ว่า จีนกำลังพิจารณาเลือกเมียนมา, ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, ศรีลังกา และประเทศอื่นๆในแอฟริกาและเอเชียกลางเป็นที่ตั้งของฐานโลจิสติกส์ด้านการทหาร และล่าสุด จีนได้ทาบทามนามิเบีย, วานูอาตูและหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อใช้ประเทศเหล่านี้เป็นที่ตั้งฐานที่มั่นด้านการทหารแล้ว

“แซค คูเปอร์” นักวิจัยจากสถาบันวิจัยอเมริกัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งมีสำนักงานในวอชิงตัน ให้ความเห็น “รายงานใหม่ฉบับนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความปรารถนาของจีน ในความเคลื่อนไหวระดับโลก และเป็นครั้งแรกที่ข้อสังเกตลักษณะนี้ปรากฏในรายงานประจำปี”

รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่า ความทะเยอทะยานของจีนที่จะการขยายแสนยานุภาพด้านการทหารทั่วมหาสมุทรอินเดีย มีที่มาจากการที่จีนเปิดฐานทัพถาวรในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในจิบูตี เมื่อปี 2560 และจนถึงขณะนี้ที่มั่นในจิบูตี ยังเป็นเพียงฐานทัพในต่างประเทศเพียงแห่งเดียวของจีน โดยจีนระบุว่าเป็นแค่ฐานทัพสนับสนุน เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ทั้งในด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภารกิจคุ้มกัน

รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ระบุว่า การเข้าไปตั้งฐานทัพของจีนในจิบูตี เป็นการสนับสนุนศักยภาพการตอบโต้ทางทหารสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของจีนและโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค โดยปัจจุบัน ่ในทวีปแอฟริกามีชาวจีนอาศัยอยู่ประมาณ 1 ล้านคน ส่วนในตะวันออกกลาง มีชาวจีนประมาณ 500,000 คน

นอกจากประเทศที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สหรัฐยังเชื่อว่า กัมพูชาได้ลงนามข้อตกลงลับๆกับรัฐบาลจีนเพื่อเปิดทางให้กองทัพจีนใช้ฐานทัพเรือแห่งหนึ่งเป็นฐาน แม้ทั้งสองประเทศจะปฏิเสธความเชื่อนี้ของสหรัฐก็ตาม

ขณะที่การลงทุนของจีนในท่าเรือพลเรือนต่างๆทั่วมหาสมุทรอินเดีย ก็ถูกขนานนามว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนให้ครอบคลุมท่าเรือสำคัญๆในมหาสมุทรอินเดีย ที่ในอนาคตอาจถูกใช้งานโดยกองทัพเรือของจีน แม้รัฐบาลจีนไม่ยอมรับว่านี่คือยุทธศสตร์ แต่บรรดานักเคราะห์มองว่า เป็นความพยายามปิดล้อมอินเดีย ที่อาจก้าวขึ้นมาเป็นคู่ปรับ

ทั้งยังตอกย้ำกว่าจีนมีความพยายามที่ชัดเจนมากขึ้นในการวางรากฐานด้านการทหารในต่างประเทศ

นอกจากนี้ รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ยังระบุว่าจีน อาจเพิ่มปริมาณหัวรบนิวเคลียร์ในคลังสรรพาวุธอย่างน้อยสองเท่าในช่วงสิบปีข้างหน้า เพื่อเดินหน้าติดอาวุธนิวเคลียร์ทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยรายงานระบุว่า จีนต้องการเพิ่มจำนวนและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัย เพื่อให้กองทัพของจีนเท่าเทียมหรือล้ำหน้าไปกว่ากองทัพของสหรัฐภายในปี2592 เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันขยายอิทธิพลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิค

รายงานฉบับนี้ ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปัจจุบัน จีนมีหัวรบนิวเคลียร์กว่า 200 ลูก ซึ่งบางส่วนสามารถนำมาประกอบกับขีปนาวุธนำวิถีที่สามารถยิงข้ามทวีปมาถึงสหรัฐได้ ซึ่ง"แชด สบราเกีย" รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ บอกว่า เป็นครั้งแรกที่กระทรวงกลาโหมระบุจำนวนหัวรบของจีนอย่างชัดเจน ซึ่งสหรัฐกังวลเกี่ยวกับจำนวนดังกล่าว รวมทั้งทิศทางการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยรวมของจีน

หากจีนสะสมหัวรบนิวเคลียร์ได้ถึงระดับที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐคาดการณ์ไว้จะทำให้กองทัพจีนขบับเข้าใกล้กับการมีคลังแสงนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์ (nuclear triad) หรือสามเหล่านิวเคลียร์ คือขีปนาวุธข้ามทวีปที่สามารถยิงได้จากภาคพื้นดิน (ไอซีบีเอ็ม) เครื่องบินทิ้งระเบิดที่โจมตีทางอากาศ (strategic bomber) และขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำ (เอสแอลบีเอ็ม)

ในส่วนของสหรัฐ มีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 3,800 ลูกที่สามารถใช้งานได้ มากกว่าจีนอยู่มาก แถมสหรัฐยังมีเรือดำน้ำและเครื่องบินที่สามารถโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งขีปนาวุธที่สามารถยิงข้ามทวีปจากพื้นดินได้ แต่ถึงแม้ว่าขณะนี้จีนยังไม่มีศักยภาพในการยิงอาวุธนิวเคลียร์จากอากาศ แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐก็ระบุว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนได้เปิดตัวเครื่องบินทิ้งระเบิด H-6N ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถเติมเชื้อเพลิงทางอากาศและติดอาวุธนิวเคลียร์ได้เป็นลำแรกของจีน เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ระบุด้วยว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา กองทัพเรือจีนได้สร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 12 ลำ ในจำนวนนี้ 6 ลำคือการสร้างการป้องปรามนิวเคลียร์ทางทะเลเป็นครั้งแรกของจีน และในช่วงกลางทศวรรษที่ 2020 จีนอาจสร้างเรือดำน้ำที่สามารถโจมตีด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์นำวิถี ที่อาจใช้ในปฏิบัติการลับเพื่อโจมตีภาคพื้นดินได้เช่นกัน

นอกจากนี้ จีน ยังปฏิเสธคำชวนของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ให้เข้าร่วมข้อตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐ และรัสเซียซึ่งสหรัฐอาจปล่อยให้สนธิสัญญาดังกล่าวที่เรียกว่า New START ระหว่างสหรัฐและรัสเซีย หมดอายุในเดือนก.พ.ปีหน้า เพราะจีนไม่ยอมร่วมข้อตกลงด้วย

ด้าน“มาร์ค เอสเปอร์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ พูดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ระบบเสรีและเปิดกว้างของโลกที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงเริ่มสงครามโลกครั้งที่2 กำลังสั่นคลอนเพราะพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิค

“ภูมิภาคอินโดแปซิฟิคเป็นศูนย์กลางการแข่งขันของขั้วอำนาจ และสหรัฐจะไม่ถอยแม้แต่นิ้วเดียวให้กับประเทศที่คุกคามเสรีภาพระหว่างประเทศ”รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐกล่าว ซึ่งเป็นการกล่าวถึงจีนนั่นเอง

ขณะที่เจ้าหน้าที่กลาโหมของสหรัฐ กล่าวว่า ในช่วงการฝึกกองทัพของจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนยิงขีปนาวุธพิสัยกลางสี่ลูกจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังทะเลจีนใต้ โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวล ด้วยการระบุว่าการกระทำดังกล่าวของจีนขัดต่อคำมั่นที่ว่าจะไม่ใช้พื้นที่ในทะเลจีนใต้เพื่อประโยชน์ทางการทหาร และยังขัดต่อวิสัยทัศน์ของสหรัฐต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิคที่เสรีและเปิดกว้าง ที่ทุกประเทศ ทั้งประเทศใหญ่และเล็ก มีความมั่นคงทางอธิปไตย ไม่ถูกบีบบังคับ และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตามกฎและหลักการระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับ