'ก้าวไกล' หนุนพูดคุยบางประเด็นในข้อเรียกร้อง 10 ข้อ

'ก้าวไกล' หนุนพูดคุยบางประเด็นในข้อเรียกร้อง 10 ข้อ

"ก้าวไกล" หนุนพูดคุยบางประเด็นในข้อเรียกร้อง 10 ข้อ แจง ไม่ร่วมลงชื่อในร่างฝ่ายค้านเพราะไม่แตะหมวด 1-2 อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 คุ้มครองพระมหากษัตริย์และรัฐไทยอยู่แล้ว

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ว่า ขอยืนยันว่าไม่ได้แยกในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นหลักของพรรคร่วมฝ่ายคือการปลดล็อค
การแก้ไขรัฐธรรมนูญและต้องการให้มี สสร. ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งพรรคก้าวไกลได้มีการพิจารณาเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ในร่างฉบับดังกล่าวมี
รายละเอียดสำคัญบางประการที่พรรคก้าวไกลต้องขอสงวนไว้ เนื่องจากญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่มีการแก้ไขในหมวด1 และ หมวด 2 โดยยังมีกรณีอื่นๆ ที่พรรคก้าวไกลจะมีการผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


ทั้งนี้ ในการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ลงชื่อจำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด หรือ 98 คน ซึ่งขณะนี้พรรคก้าวไกลกำลังดำเนินการในการยื่นญัตติเรื่องการปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272  ซี่งเป็นเรื่องที่นักศึกษาเรียกร้อง โดยพรรคได้ทำการร่างเสร็จแล้วอยู่ระหว่างยื่นให้พรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณา โดยจะทำการยื่นญัตตินี้ให้เร็วที่สุดซึ่งคาดว่าจะยื่นได้ภายใน สัปดาห์หน้า ซึ่งมองว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ปิดล็อคและทำให้เกิดวิกฤตในตัวเอง โดยสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีทางที่จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไข เปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องยกร่างฉบับใหม่ พร้อมทั้่งขอเรียกร้องให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ร่วมลงชื่อในญัตติของพรรคก้าวไกลด้วย

อย่างไรก็ตาม ในร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทยมีการระบุว่าจะไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 แต่ที่ผ่านมาหมวดที่ 1 มีการแก้ไขมาโดยตลอด จึงไม่มีความจำเป็นที่จะปิดล็อคไม่ให้มีการแก้ไข ส่วนกรณีหมวดที่ 2 เป็นหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์  จึงมีการตั้งคำถามว่าหากมีการแก้ไขโดย สสร. ก็เกรงว่า สสร. จะมีการแก้ไขในข้อความที่เลยเถิดออกไปเกินกว่าที่จะกำหนดได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์นั้น ยังมีรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ที่ระบุอยู่แล้วว่า รูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ไขการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ขณะเดียวกัน จะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐได้ซึ่งเป็นการเขียนเพื่อให้ยกเว้นการแก้ไขในหมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 ไว้อยู่แล้ว



ดังนั้น จึงมองว่า สังคมไทยต้องมีพื้นที่เปิดกว้างให้กับบุคคลที่มีวุฒิภาวะ และต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความเห็นอย่างเปิดกว้าง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีการแสดงความคิดเห็นแล้วมา เมื่อมี สสร. แล้ว ทุกความเห็นจะถูกเสนอย่างเป็นระบบให้ สสร. พิจารณา ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ควรนำมาพิจารณาก่อนคือข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ 2 จุดยืน กับ 1 ความฝัน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ประชาชนเห็นตรงกัน แต่ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ก็มีบางข้อที่ควรค่าแก่การพิจารณา ดังนั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้มีข้อถกเถียงกัน มีกระบวนการรับฟังที่เป็นระบบ และจำเป็นต้องรับฟังความเห็นที่หลากหลาย โดยมองว่าในข้อเรียกร้อง 10 ข้อ มีบางประเด็นที่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมว่าต้องการสื่อสารอะไร แต่ในภาพรวมไม่กระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข