อย่าให้ 'การเมือง' เติมเชื้อไฟเศรษฐกิจไทย

อย่าให้ 'การเมือง' เติมเชื้อไฟเศรษฐกิจไทย

ในสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะจากวิกฤติโควิด-19 ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงไม่ควร “ราดน้ำมันในกองไฟ” จากปัญหาทางการเมืองที่จะเป็นการปะทุเชื้อไฟ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจบานปลายไปอีก

นอกจากการระบาดของโควิด-19 จะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยหนักหน่วง โดยล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยถึงอัตราเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาสสองของปีนี้ว่า ติดลบ 12.2% พร้อมปรับประมาณการจีดีพีทั้งปี ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 7.3% -7.8% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 5-6% สะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่รัฐต้องหาแนวทาง ฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ในห้วงที่รัฐบาลกำลังเร่งหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นงานหิน เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมยาก ตราบที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย ก็ยากที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วง 4-5 เดือน (ส.ค.-ธ.ค.) ที่เหลือของปี จากกำลังซื้อทั่วโลกที่หดตัวแรง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ “ทางการเมือง” ในไทย ยังถือเป็น “ตัวแปรแทรก” ที่อาจซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยให้ทรุดหนักลงอีก ซึ่งถือเป็นภาวะที่เปราะบางอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ “ชุมนุมประท้วงทางการเมือง” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และทำท่าจะความรุนแรงและยืดเยื้อ อย่างการชุมนุมใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงเย็นวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น

โดยแม้แต่ สศช.เองยังออกโรงเตือนให้รักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับบางสำนักข่าวต่างประเทศ ออกมาระบุว่า การประท้วงในไทยที่รุนแรงขึ้น จะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

ดังนั้นในสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ในหลายมาตรการ อาทิ การกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมไปถึงการบรรเทาผลกระทบทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากพิษสงของโควิด ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงไม่ควร “ราดน้ำมันในกองไฟ” จากปัญหาทางการเมืองที่จะเป็นการปะทุเชื้อไฟ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจบานปลายไปอีก “การประคับประคอง” สถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการปฏิบัติกับผู้ชุมนุมประท้วง ต้องทางออกอย่าง “สันติวิธี” อย่าใช้ความรุนแรง ยอมรับความคิดเห็นที่แปลกต่าง นำข้อเสนอเข้าสู่โต๊ะเจรจา หาทางออกร่วมกัน ย่อมเป็นวิถีประชาธิปไตยที่แท้ ที่สำคัญส่งผลดีต่อประเทศชาติมากที่สุดแล้ว