ผู้ช่วยรมต.ยุติธรรม อธิบายเงินถุงแดง เตือน 'ปิยบุตร' อย่ายุยงปลุกปั่น

ผู้ช่วยรมต.ยุติธรรม อธิบายเงินถุงแดง เตือน 'ปิยบุตร' อย่ายุยงปลุกปั่น

"สามารถ" ผู้ช่วยรมต.ยุติธรรม อธิบายเงินถุงแดง เตือน ปิยบุตร อย่ายุยงปลุกปั่น

วันนี้ (24 ก.ค.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กในประเด็นห้วงเวลาปฏิวัติ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

ได้รับข้อมูลจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนส่งข่าวดังกล่าวมาให้ เมื่ออ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจจึงขอใช้พื้นที่เฟซบุ๊กชี้แจงให้สมาชิกที่ติดตามประมาณเกือบ 1 แสนคน ได้เข้าใจและช่วยประชาสัมพันธ์ไปบอกกล่าวประชาชนท่านอื่น เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าข้อมูลข่าวสารต้องทันกันจริงๆ ต้องชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบโดยเร็วเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด โดยปัจจุบันไม่มีการแบ่งแยกสีเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองแล้ว แต่กลับถูกแบ่งแยกทางความคิด เป็นบนกับล่างอย่างชัดเจน

สำหรับนายปิยบุตรเองถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้วควรกลับไปสอนหนังสือ อย่ามายุยงปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังสร้างความแตกแยกของคนในชาติ ทั้งนี้ ขอยกคำสอนหลวงพ่อคูณมาเตือนสตินายปิยบุตรว่า "อย่าเนรคุณแผ่นดิน" เพราะวันนี้เห็นแล้วว่าม็อบที่เกิดขึ้นนั้นมีนัยแอบแฝงและสอดรับกับนายปิยบุตร ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ หรือเป็นทฤษฏีสมคบคิดและสอดรับกับพรรคการเมืองหนึ่งที่ไม่ร่วมสังฆกรรมในการแก้ปัญหาเหล่านี้ในสภาผู้แทนฯด้วย

ขอบอกว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ ทั่วโลกยอมรับการแก้ปัญหาโควิด-19 ของประเทศไทย และ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ , การเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทช่วยเหลือเศรษฐกิจ หรือ ลงทุนในเมกะโปรเจกต์ใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้ นอกจากนี้ World Health Organization (WHO) เลือกประเทศไทยและประเทศนิวซีแลนด์ ถ่ายทำสารคดีต่อความสำเร็จในการจัดการและควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งต่างประเทศได้ยกย่องประเทศไทย แต่แปลกใจที่นายปิยบุตร ซึ่งเป็นคนไทย กลับจ้องทำลายประเทศตัวเอง

“ขอพูดถึงประวัติศาสตร์เรื่องเงินถุงแดง สมัย ร.3 ให้กับสมาชิกในเฟซบุ๊กเพื่อกระจายต่อว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในการช่วยปกป้องอาณาจักรไทยเงินถุงแดง เป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าทับ ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 2 ทรงทำหน้าที่กำกับราชการกรมท่า กรมท่านี้เป็นกรมที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานการต่างประเทศ การพาณิชย์ แล้วก็การพระคลัง ทรงบริหารงานราชการกรมท่าเข้มแข็งมากแล้วก็นำรายได้เข้าสู่แผ่นดินได้จำนวนมากอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เงินแผ่นดินสมัยก่อนเค้าเรียกว่าเงินในท้องพระคลังหลวง วิธีการหารายได้ของพระองค์ท่าน คือ จัดแต่งเรือสำเภานำสินค้าไปค้าขายกับต่างประเทศ อย่างเช่นจีน อินเดียและประเทศทางก็จะมีเปอร์เซียเป็นนักค้าตัวยง มีทั้งสำเภาหลวงแล้วก็สำเภาของส่วนพระองค์ด้วย ทรงนำสินค้าของส่วนพระองค์ใส่เรือสำเภาของส่วนพระองค์ค้าขายกับต่างประเทศด้วย เงินที่ได้มา ในส่วนของสำเภาหลวงก็เข้าคลังหลวง ในส่วนของสำเภาส่วนพระองค์ ได้ทรงแบ่ง ส่วนหนึ่งก็คือถวายรัชกาลที่ 2 เพื่อนำเข้าพระคลังหลวงด้วย อีกส่วนหนึ่งทรงเก็บไว้เงินส่วนพระองค์ที่ทรงเก็บไว้ในถุงแดง ข้างที่พระบรรทม พอเงินเต็มถุง พอเต็มถุงก็จะทรงนำเข้าพระคลังหลวงไว้เป็นสมบัติแผ่นดินทั้งหมด และทรงสะสมใหม่ เพื่อพระราชทานเก็บเข้าพระคลังหลวงเป็นสมบัติแผ่นดินอีก

ทั้งๆที่เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่เนื่องจากทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อพระองค์มีพระราชทรัพย์ในขณะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน คือที่ทรงค้าขาย ทั้งเมื่อยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ และเมื่อครองราชย์แล้วด้วยเหมือนกัน คือจากสำเภาส่วนพระองค์ด้วยเหมือนกัน แต่เมื่อทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อมีพระราชทรัพย์ในขณะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทรัพย์ทั้งหมดจึงควรจะเป็นของแผ่นดิน หาใช่พระราชทรัพย์ที่จะตกทอดถึงพระราชโอรส ธิดาของพระองค์ เพราะเงินถุงแดงเก็บข้างที่พระบรรทม ซึ่งต่อมาก็เป็นที่มาของคำว่าพระคลังข้างที่ ใส่ในถุงแดง ถุงผ้า ถุงผ้าสีแดง แล้วก็สมัยโบราณเวลาเขาเก็บเงินเขาจะห่อมิดชิดแล้วตีตรา คือ เก็บในถุงแดงแล้วก็จะมีกำปั่น คือเป็นวิธีการเก็บเงินในสมัยโบราณเขาจะใส่กำปั่น จะวางไว้ข้างพระที่
หรือว่า ตอบไม่ได้แน่นอนว่าวางไว้ข้างพระแท่นบรรทมหรือว่ามีห้องเก็บ แต่เขาก็เรียกว่าเงินข้างที่บรรทมหรือพระคลังข้างที่

พวกเงินพวกนี้จริงๆ คือ เงินส่วนพระองค์ ที่ว่าท่านเก็บแล้วท่านจะพระราชทานใครก็ได้หรืออะไรก็ได้ท่านมีสิทธิใช้ แต่ว่าพระองค์ท่านก็ทรงพยายามเก็บหอมรอมริบไว้เพื่อที่จะให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ไว้ใช้ในยามยาก คือตามที่มีบันทึกไว้ปรากฏว่ารัชกาลที่ก่อนที่จะสวรรคตท่านมีกระแสรับสั่งไว้ว่า เงินในท้องพระคลังทั้งข้างหน้าและข้างใน ไม่ได้บอกว่าในไหนมีอยู่รวมๆกันแล้วประมาณ 40,000 ชั่ง แต่ขอไว้สัก 10,000 ชั่งเถิด คือให้บอกกับผู้ที่จะครองราชย์ต่อจากพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นผู้ครองราชย์ต่อจากพระองค์ท่าน แล้วก็ไม่ได้บอกว่าจะให้กับพระราชโอรสองค์ไหน เพียงแต่ว่าขอให้ผู้ที่จะครองราชย์ต่อจากพระองค์ท่าน คือเอาเงินซัก 10,000 ชั่ง จากจำนวน 40,000 ชั่ง ไปช่วยบำรุงวัดวาอารามที่เสื่อมโทรม เป็นกุศลผลบุญ แล้วก็ส่วนที่เหลือให้เอาไว้ใช้ในการแผ่นดินต่อไป คือไม่ได้พระราชทานให้แก่โอรสธิดาองค์ใด แต่ให้เป็นของสำหรับแผ่นดิน และส่วนหนึ่งก็คือบำรุงวัด

สมัยก่อนมีเหรียญ คือเหรียญแม็กซิกัน ซึ่งเป็นเหรียญทองรูปนกอินทรีย์ เป็นเหรียญที่เขานิยมใช้แลกเปลี่ยนเงินตรา ในการซื้อขายสินค้าต่างประเทศแล้วก็ อาจจะมีเหรียญของจีนบ้าง เหรียญอังกฤษบ้าง อะไรพวกนั้น แต่ว่าโดยมากแล้วที่กล่าวถึงก็จะเป็นเงินเหรียญแม็กซิกัน หรือที่คนไทยเขาเรียกว่าเหรียญนกคือถ้าเทียบกัน เงินไทยสมัยก่อนเขานับเป็นชั่ง 1 ชั่งเท่ากับ 48 เหรียญนก 1 ชั่งเท่ากับ 80 บาท ต้องคูณกัน 1 ชั่งเท่ากับ 80 บาท ก็คูณไปว่าถ้าเป็น 10,000 ชั่ง จะเท่าไหร่ แล้ว 40,000 ชั่งจะเท่าไหร่สมัยนั้นก็คงเป็นจำนวนมหาศาล 10,000 ชั่งนี้ก็ไว้บำรุงวัดล่ะ เหลืออีก 30,000 ชั่ง ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่า 30,000 ชั่ง คืออยู่ในถุงแดงทั้งหมด เพราะว่าอย่าลืมว่าพระองค์ท่านนั้น เวลาค้าสำเภาส่วนพระองค์ ได้มาส่วนหนึ่งท่านถวายให้เป็นเงินแผ่นดิน เก็บไว้ในท้องพระคลังหลวง อีกส่วนหนึ่งก็เก็บไว้ในถุงแดง

วัตถุประสงค์ของการใช้เงินถุงแดงสำรองไว้ใช้ยามประเทศชาติวิกฤติ เพราะว่าก่อนที่จะสวรรคตนั้น พระองค์ท่านมีรับสั่งว่า คือห่วงประเทศ ท่านบอกว่าการศึกสงครามพม่า ญวน เขมรคงไม่มีแล้ว จะมีแต่เรื่องของฝรั่ง ซึ่งตอนนั้นมีอังกฤษ มีฮอลันดาเข้ามาเยอะ แล้วก็ท่านก็รับสั่งบอกว่า ถ้าอะไรส่วนที่ดีก็จงนำมาใช้จำไว้ ส่วนที่ไม่ดีก็อย่า ก็คือให้ระวังไว้ แสดงว่า ทรงมีความละเอียดรอบคอบแล้วก็คิดไปถึงอนาคต คิดไกล และท่านก็สั่งไว้เงินของท่านที่เหลือ ก็คือให้ไว้ใช้ในยามแผ่นดินวิกฤติ ยามยาก ยามจำเป็น สถานการณ์ที่นำเงินถุงแดงออกมาใช้เคยก็มี คือเมื่อรัชกาลที่ 3 สวรรคต รัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ท่านไม่ได้ใช้ ท่านเก็บไว้ พอถึงรัชกาลที่ 5 บังเอิญช่วงนั้นมันเกิดวิกฤตการณ์ที่ที่คนไทยเรารู้จักกันต่อมาในประวัติศาสตร์ก็คือวิกฤตการณ์ รศ. 112 ตรงกับ พ.ศ. 2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งมันเป็นดินแดนในอาณัติของสยาม

แต่ปัจจุบันนี้ก็ถือว่าอยู่ในเขตของประเทศลาว แล้วก็มีอาณาเขตติดต่อกับเวียดนามและภาคอีสานตอนบน เมืองสำคัญในดินแดนนั้นก็คือเมืองคำม่วน ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์คือฝรั่งเศสบุกรุก บุกรุกเข้ามาโดยอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของลาวและดินแดนส่วนนี้ ต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย ซึ่งตอนนั้นสยามมีข้าหลวงสยามประจำเมืองคำม่วน คือเจ้าเมืองคำม่วน เป็นข้าหลวงของสยามคือ พระยอดเมืองขวาง

พระยอดเมืองขวาง ท่านเป็นข้าหลวงสยาม ประจำเมืองคำม่วน ซึ่งรัชกาลที่ 5 ส่งไปปกครอง พระยอดเมืองขวางถูกฝรั่งเศสบังคับให้ถอนตัวออกมา ตอนนั้นเกิดการรบกัน มีทหารฝรั่งเศสตายด้วย พระยอดเมืองขวางก็เลยถูกจับขึ้นศาล แต่ตอนนั้นตอนแรกมีผู้พิพากษาสยาม ตัดสินให้พระยอดเมืองขวางพ้นข้อกล่าวหา แต่ปรากฏว่าฝรั่งเศสไม่พอใจ ส่งเรือรบบุกเข้ามาทอดสมอหน้าสถานทูตฝรั่งเศสในพระนครแล้วยื่นคำขาด บอกว่าให้สยามยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง รวมทั้งเกาะต่างๆให้กับฝรั่งเศส และขอเอาเมืองจันทบุรี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของสยามทางฝั่งตะวันออกเป็นประกันนานถึง 10 ปี นอกจากนี้สยามต้องตั้งศาลผสมเพื่อพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวางใหม่

ซึ่งศาลผสมประกอบด้วย ผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศส คือฝรั่งเศส 3 คน คนสยาม 2 คน ซึ่งในที่สุดตัดสินแล้วฝรั่งเศสก็ชนะอยู่วันยังค่ำ แล้วก็ไทยต้องชดใช้ค่าปรับ ค่าเสียหาย ค่าปรับสินไหมอะไรต่างๆเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์ นอกจาก 2 ล้านฟรังก์ นี้แล้วต้องจ่ายค่าเสียหายค่าทำขวัญ ให้กับครอบครัวทหารฝรั่งเศสที่ตาย ซึ่งตรงนี้เขาไม่ได้ระบุจำนวน ไม่ทราบจำนวนเงินแน่นอน นอกจากค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้แล้ว ฝรั่งเศสกำหนดว่าต้องจ่ายค่ามัดจำ จ่ายเงินเป็นประกันเป็นเงินเหรียญทั้งหมดอีก 3 ล้านฟรังก์ คิดเป็นเงินไทย ประมาณเท่าไหร่ 7 ล้านบาทประมาณนั้น แต่ว่าค่ามัดจำที่ว่า 3 ล้านฟรังก์ ต้องจ่ายภายใน 48 ชั่วโมง ถ้าไม่จ่ายไม่ตอบภายใน 48 ชั่วโมง ฝรั่งเศสทำยังไง ฝรั่งเศสจะนำเรือรบปิดปากอ่าวไทยทั้งหมดคือตอนนั้นเรือเข้ามาปากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงพระนครแล้ว ตั้งปากกระบอกปืนหันสู่พระบรมมหาราชวังแล้ว ถ้าเป็นสถานการณ์ตอนนั้น รัชกาลที่ 5 จะทำอย่างไร ทรงพระประชวร

ทีนี้พอฝรั่งเศสยื่นคำขาดแบบนี้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรสยามจะทำอย่างไร เพราะว่าเงินในพระคลังหลวงตอนนั้น คือจำนวนทั้งหมดมากกว่าครึ่งของงบประมาณทั้งสยามแล้วก็บังเอิญมีพระบรมวงศ์ท่านหนึ่งคือจำไม่ได้ว่าพระองค์ใด ได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ว่า มีเงินมีเงินถุงแดง เป็นเงินข้างพระที่บรรทมของรัชกาลที่ 3 ซึ่งส่งเก็บไว้และก็พระราชทานให้ไว้ใช้เป็นเงินแผ่นดิน ลองมาเปิด ปรากฏนับเงินถุงแดง คือเปิดนับมาได้แต่ว่าเงินที่เปิดมายังไม่พอ บรรดาเจ้านายขุนนางคหบดีที่มีเงินมีทองทั้งหลาย ก็นำข้าวของเงินทองไปขายแลกเงินเหรียญ รวมกันแล้วมาถวายสมทบทุนแล้วก็ส่งไปเป็นค่าประกัน ประเทศชาติจึงรอดมาถือว่าได้ช่วยในยามวิกฤติ

ท่านหญิงพูนพิศมัย ท่านเล่า ขนเงินเหรียญใส่ถุงขนออกจากพระบรมมหาราชวังไปยังท่าราชวรดิษฐ์ มีการประมาณว่าน้ำหนักเหรียญถึง 23 ตัน ขนทั้งวันทั้งคืน ภายใน 48 ชั่วโมงจนกระทั่งถนนเป็นรอยร่องเลย คือพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประเทศสยามในยามยาก ถ้าไม่ได้เงินถุงแดงของพระองค์ท่านก็ไม่รู้ว่าเงินที่ได้จากการขายข้าวของจะเพียงพอต่อการชดใช้ไถ่เอกราช กู้แบบกู้ชาติหรือเปล่า คือเรื่องของคุณค่าของเงินถุงแดงที่ได้ประจักษ์ชัดในความเป็นไทยมาจนทุกวันนี้ ประชาชนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของเงินถุงแดง

จึงอยากให้นายปิยบุตร อ่านเรื่องเงินถุงแดงจะได้เข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยต่างกับสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส ฉะนั้นอย่ายกมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ถ้าอยากอยู่ฝรั่งเศสควรไปที่นั้น หรือหากอยากอยู่ประเทศไทยควรอยู่ภายใต้กฎหมายและรักเทิดทูนสถาบันอันเป็นที่รักของคนไทยทุกคน