'โฮป' ยานสำรวจแห่งความหวัง ภารกิจอวกาศแรกของอาหรับ

'โฮป' ยานสำรวจแห่งความหวัง ภารกิจอวกาศแรกของอาหรับ

ภารกิจอวกาศครั้งแรกของโลกอาหรับได้เริ่มต้นขึ้นแล้ววานนี้ (20 ก.ค.) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ส่ง "โฮป” (ความหวัง) ยานสำรวจไร้มนุษย์ปล่อยยิงจากญี่ปุ่น มุ่งหน้าศึกษาสภาพชั้นบรรยากาศของดาวอังคารหรือดาวแดง

จรวดนำส่งยานสำรวจที่พัฒนาโดยยูเออี ถูกปล่อยยิงจากศูนย์อวกาศทาเนกะชิมา ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อเวลา 6.58 น.ของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น ตรงตามกำหนดการ

การปล่อยยานโฮป (Hope) หรืออัล อามาล ในภาษาอาหรับ ไปดาวอังคาร ถูกเลื่อนมา 2 ครั้งแล้ว เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้อ แต่การปล่อยยิงวานนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ 

เกือบ 1 ชั่วโมงต่อมา ยานสำรวจแยกตัวออกจากจรวดนำส่งได้สำเร็จ ภาพถ่ายทอดสดจากศูนย์อวกาศ เจ้าหน้าที่ประจำฐานปรบมือกันเสียงดังสนั่นในห้องควบคุม 

บริษัทมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสตรีส์ ผู้ผลิตจรวดเผยว่า วิถีปล่อยยานเป็นไปตามแผน ยานสำรวจโฮปแยกตัวจากจรวดนำส่งด้วยดี 

ในดูไบ ประชาชนตื่นเต้นไม่แพ้กัน ผู้คนไปรวมตัวกันที่ เบิร์จ คาลิฟะ ตึกสูงที่สุดในโลก ร่วมกันนับถอยหลัง 10 วินาทีสุดท้ายก่อนจรวดถูกปล่อยออกจากฐาน 

“ภารกิจการส่งยานขึ้นสำรวจดาวอังคารครั้งนี้นับเป็นหมุดหมายสำคัญของยูเออีและภูมิภาค สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในภูมิภาคหลายล้านคน ให้กล้าฝันและทำงานหนักในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้” ยูซุฟ ฮาหมัด อัลชาอิบานี ผู้อำนวยการศูนย์อวกาศโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด กล่าวในการแถงข่าวที่ญี่ปุ่นหลังการปล่อยยาน 

ยูเออี เป็น 1 ใน 3 ประเทศที่แข่งกันไปดาวอังคาร อีก 2 โครงการได้แก่ เทียนเหวิน 1 ของจีน และมาร์ส 2020 ของสหรัฐ ที่ต้องเร่งทำในปีนี้เพราะเป็นช่วงที่โลกกับดาวอังคารเข้าใกล้กันมากที่สุด องค์การบริหารอวกาศและการบินสหรัฐ (นาซา) เผยว่าในเดือน ต.ค. ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลก ห่างกัน 62.07 ล้านกิโลเมตร

คาดว่ายานโฮป  จะเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในเดือน ก.พ. 2564 ซึ่งจะครบรอบ 50 ปีของการสถาปนา รวมพันธมิตร 7 รัฐของเจ้าผู้ครองนครมาเป็นยูเออี

โฮปแตกต่างจากอีก 2 โครงการที่จะปล่อยในปีนี้ตรงที่ ไม่ได้ลงจอดบนดาวแดง แต่จะอยู่ในวงโครจนเป็นเวลา 1 ปีดาวอังคาร หรือ 687 วัน 

แม้วัตถุประสงค์ของยูเออีต้องการเก็บภาพสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของดาวอังคารอย่างรอบด้าน แต่ยานโฮปจะเป็นรากฐานนำไปสู่เป้าหมายที่ไกลกว่านั้นมาก นั่นคือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคารภายใน 100 ปีข้างหน้า 

รัฐบาลดูไบว่าจ้างสถาปนิกให้ลองออกแบบเมืองบนดาวอังคาร แล้วสร้างเมืองจำลองนี้ขึ้นในทะเลทราย เรียกว่า “เมืองวิทยาศาสตร์” ใช้งบประมาณราว 135 ล้านดอลลาร์ ไม่เพียงเท่านั้นยูเออียังต้องการใช้โครงการนี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆและเยาวชนอาหรับ ที่มักมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติและวิกฤติเศรษฐกิจอยู่เสมอ

รัฐบาลยูเออีประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า ยานโฮป คือตัวแทนของความภูมิใจ ความหวัง และสันติภาพของภูมิภาคอาหรับที่พวกเขาต้องการรื้อฟื้นยุคทองในการค้นพบของชาติอาหรับและอิสลามอีกครั้ง

ตั้งแต่ทศวรรษ 60 เป็นต้นมา ยานสำรวจหลายสิบลำ ส่วนใหญ่เป็นของสหรัฐ เดินทางไปยังดาวอังคาร แต่หลายลำไปไม่ถึง หรือลงจอดไม่ได้ 

ความพยายามสำรวจดาวอังคารเพิ่งจะกลับมาอีกครั้งหลังมีการค้นพบรอยน้ำไหลบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้เมื่อ 10 ปีก่อน

โอมราน ชาราฟ ผู้จัดการโครงการสำรวจดาวอังคาร กล่าวว่า ยานสำรวจโฮปจะให้มุมมองใหม่เกี่ยวกับดาวอังคาร 

"สิ่งที่เป็นความพิเศษของภารกิจนี้ก็คือ เป็นครั้งแรกที่วงการวิทยาศาสตร์จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสภาพบรรยากาศของดาวอังคารที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งระหว่างวัน ในแต่ละฤดูกาล” ชาราฟกล่าวสรุปก่อนปล่อยยาน 

ทั้งนี้ คาดว่ายานสำรวจโฮปจะเริ่มส่งข้อมูลกลับมายังโลกได้ตั้งแต่ เดือน ก.ย. 2564 โดยจะแบ่งปันข้อมูลให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ศึกษา

สำหรับยูเออี มีดาวเทียมที่ยังทำงานอยู่บนวงโคจรโลก 9 ดวง มีแผนปล่อยอีก 8 ดวงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ชาวยูเออีคนแรกเพิ่งขึ้นไปปฏิบัติภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติ