เมื่อ 'TikTok' เป็นบริษัทเอกชนจำกัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อ 'TikTok' เป็นบริษัทเอกชนจำกัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทำความรู้จักที่มา "Tik Tok" แอพพลิเคชั่นที่โด่งดังไปทั่วโลก จากฝีมือบริษัทเอกชนจำกัดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ByteDance ขณะนี้มูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 800 ล้านคน รวมถึงเป็นแอพที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดใน Q1 ปี 2020

ทุกวันนี้บริษัทแม่ของ Tik Tok (ติ๊กต๊อก) อย่าง ByteDance (ไบท์แดนซ์) มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทเอกชนจำกัดที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

ไบท์แดนซ์ ถูกก่อตั้งโดย จางอีหมิง นักธุรกิจชาวจีนที่อดีตเคยทำงานให้กับ Microsoft มาก่อน ก่อนที่จะมาเปิดบริษัทตัวเองที่มีชื่อว่า ไบท์แดนซ์ แอพตัวแรกที่เขาสร้างขึ้นมาชื่อ เหน่ยหาร ต้วนจึ แอพนี้จะมีแต่เรื่องราวตลกๆ ล้อเลียน ตอนช่วงเวลาที่คนใช้แอพนี้เยอะที่สุดคือตอนปี 2017 ที่มีผู้ใช้งานทั่วเมืองจีนถึง 200 ล้านคน

หลังจากนั้นเขาเห็นโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็นนั่นก็คือข่าว เขามองในสมัยนั้นช่วงปี 2012 เวลาคนจีนหาข่าวในมือถือ ก็มักจะหาผ่านทาง baidu.com (ป๋ายตู้.com) ซึ่งป๋ายตู้เองมักจะปนเนื้อหาที่แท้จริงกับโฆษณาที่ป๋ายตู้กำลังจะเสนอ และเขายังมองอีกว่า ข่าวปลอมมันค่อนข้างเยอะ ถ้าเอา AI มาช่วยกรองข่าวและคัดข่าวให้เหมาะสมกับบุคลิกของแต่ละคน เขาเลยตัดสินใจที่จะนำเทคโนโลยี 2 อันนี้มาทำแอพที่มีชื่อ จินหยื้อโทวเที๋ยว ซึ่งแปลว่าข่าววันนี้ แอพนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตอน ส.ค.2012 แอพนี้มีผู้ใช้งานมากถึง 13 ล้านคนต่อวัน และมากกว่า 90% ของคนใช้งานแอพเป็นคนที่อายุต่ำกว่า 30 คน

หลังจากนั้นไม่นาน ไบท์แดนซ์ ตัดสินใจสร้างโต่วอิน หรือที่เรารู้จักกันในนาม Tik Tok ที่เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ ก.ย.2016 ที่มีชื่อว่า A.me ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นเป็นโต่วอิน ใน ธ.ค.2016 ตอนนั้นจางมองว่า คนใช้อินเทอร์เน็ททั่วเมืองจีนมีเพียง 20% จากทั่วโลก เขาเลยมองว่าถ้าไม่บุกตลาดโลก เราจะสูญเสีย 80% ของคนใช้อินเทอร์เน็ททั่วโลกไป

ไม่นานหลังจากนั้นตอน ก.ย.2017 Tik Tok เลยเปิดตัวแอพในต่างประเทศ และตอนวันที่ พ.ย. ปีเดียวกัน Tik Tok ตัดสินใจซื้อแอพๆ นึงที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัทชื่อ Musical.ly ซึ่งเป็นแอพที่เราสามารถร้องเพลงลิปซิงค์ได้ เต้นไปกับเพลงได้ อย่างถูกกฎหมาย ด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ แล้วเอาผู้ใช้งานของ Musical.ly มารวมกันอยู่ในแอพ Tik Tok หลังจากนั้นตอนเดือน ม.ค.2018 แอพ Tik Tok ได้ขึ้นไปติดอันดับ 1 ในแอพที่มีคนดาวน์โหลดมากที่สุดในประเทศไทย และในหลายๆ ประเทศ

แต่ความสำเร็จของ Tik Tok ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ตอนนี้แอพ Tik Tok ก็ยังเป็นแอพที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในไตรมาสที่ 1 ของปี 2020 อีกด้วย แซงหน้า 4 แอพที่ Facebook เป็นเจ้าของอย่าง WhatsApp Facebook Instagram และ Facebook Messenger ตอนนี้มีผู้ใช้งาน Tik Tok ทั่วโลก 800 ล้านคน ซึ่งสูงกว่า Reddit Snapchat Twitter และ Pinterest

ตอนนี้ Tik Tok มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอสแอนเจลิส ที่สหรัฐ จากเดือน ต.ค.2019 มีผู้เข้าไปใช้งาน Tik Tok ในอเมริกาแล้วกว่า 27 ล้านคนในปี 2019 ก่อนที่ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 54 ล้านคนในเวลาเพียงแค่ 6 เดือน ในเดือน มี.ค.2020 ซึ่งคนที่เล่น Tik Tok ในอเมริกา ใช้เวลาอยู่ใน Tik Tok มากกว่าคนที่เล่น Instagram ใช้เวลาอยู่ใน Instagram เสียอีก

ประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของ Tik Tok คืออินเดีย ซึ่งมีคนดาวน์โหลดมากกว่า 30.3% จากประชากรทั้งหมดในอินเดีย แต่ประเทศที่ทำเงินให้กับ Tik Tok มากที่สุดคงหนีไม่พ้นประเทศจีน ซึ่งทำเงินให้กับ Tik Tok มากถึง 72.3% จากรายได้ทั้งหมด ส่วนที่สหรัฐทำรายได้ให้ Tik Tok รองจากจีนอยู่ที่ 19% ของรายได้ และเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งาน Tik Tok เป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 8.2% จากประชากรทั้งหมด

แต่ Tik Tok ยังไม่จำเป็นต้องรีบทำกำไรให้กับไบท์แดนซ์ก็ได้ เนื่องจากว่าตัวบริษัทแม่เองเมื่อปีที่แล้วทำรายได้มากกว่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นกำไรถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว เนื่องจากว่าไบท์แดนซ์ทำเงินส่วนใหญ่มาจากแอพข่าว จินหยื้อโทวเที๋ยว

เมื่อเดือน พ.ค.2020 ที่ผ่านมา ไบท์แดนซ์ได้แต่งตั้งให้อดีตผู้บริหารของ Disney เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่คนใหม่ของ Tik Tok นั่นก็คือคุณ เควิน เมเยอร์ ซึ่งดูเหมือนอนาคตของ Tik Tok จะดูสดใส แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็มีความกังวลเรื่องของ Tik Tok จะเก็บข้อมูลผู้ใช้งานของอเมริกากลับไปให้รัฐบาลที่กรุงปักกิ่ง หรือ เรื่องที่เด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 13 เริ่มเข้าไปเล่น Tik Tok มากขึ้น และ Tik Tok เองจะเป็นผู้เก็บข้อมูลตรงนั้นไปใช้

และแอพ Tik Tok นี้ก็เคยถูกแบนที่ประเทศอินเดียและอินโดนิเซียชั่วคราวมาแล้วด้วย เนื่องจากการโชว์ภาพรุนแรงหรือภาพลามกในแอพเองก็ตาม ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทำไม Tik Tok จึงแต่งตั้ง เควิน เมเยอร์ เข้ามาคุมบัญชาการเพราะเขาสามารถเข้าถึงตลาดที่อเมริกาได้ และเคยเป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างแอพ Disney+ ของ Disney เองด้วย

ในอนาคตอันใกล้นี้เราต้องมองกันต่อว่า Tik Tok จะทำอย่างไร เพราะว่าในตอนนี้เหมือนทุกคนเล่น Tik Tok เพราะเพียงแค่มันเป็น viral หรือแฟชั่นเท่านั้นเอง แต่ถ้า Tik Tok จะทำให้คนใช้งานต่อเนื่องก็อาจจะต้องมีบริการสตรีมมิ่งเป็นของของตัวเอง หรือการมีคอนเทนท์ของตัวเอง และอาจจะต้องมีการไลฟ์สดเป็นของตัวเอง 

โจทย์สำคัญของ Tik Tok คือทำยังไงให้คนใช้งานต่อเนื่อง และทำยังไงให้สามารถหาเงินจากแอพๆ นี้ได้มากกว่านี้ เพราะไม่งั้นแอพนี้อาจจะลงเอยแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นกับ Vine อีกแอพๆ นึงที่ใช้การโปรโมทโดยมีวิดีโอสั้นแต่สุดท้ายล้มเหลว จนทำให้บริษัทแม่อย่าง Twitter เลยถอดแอพนี้ออกจากแอพสโตร์