หนังเล่าโลก Leader’s Path : Astana

หนังเล่าโลก Leader’s Path : Astana

“Leader’s Path: Astana” ภาพยนตร์ที่สร้างจากประวัติศาสตร์การก่อสร้าง “อัสตานา” เมืองหลวงใหม่ของคาซัคสถาน จากดำริของ "นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ" ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ

ในช่วงที่โควิด-19 ยังเล่นงานมนุษย์ไม่รามือ ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกจาก 12 ล้านคนพุ่งเป็น 13 ล้านคนภายในเวลาไม่กี่วัน การเดินทางไปต่างประเทศเหมือนความฝันที่ยังห่างไกลสำหรับสามัญชนคนธรรมดา แต่การชมภาพยนตร์เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราหนีความจำเจจากชีวิตประจำวันแบบเดิมๆ ไปได้ชั่วขณะ

ไม่กี่วันก่อนสถานเอกอัครราชทูตคาซัคสถานจัดเทศกาลภาพยนตร์คาซัคสถานในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-6 ก.ค. ถือว่าเป็นโอกาสเหมาะ เนื่องจากวันที่ 6 ก.ค.เป็นวันครบรอบ 28 ปีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับคาซัคสถาน และยังเป็นวันครบรอบวันเกิด 80 ปีของ นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ

ภาพยนตร์ที่นำมาจัดฉายทางออนไลน์ มี 8 เรื่อง ผู้เขียนเลือกชมเรื่อง “Leader’s Path: Astana” ที่สร้างจากประวัติศาสตร์การก่อสร้าง “อัสตานา” เมืองหลวงใหม่ของประเทศจากดำริของประธานาธิบดี เพื่อย้อนความทรงจำดีๆ ที่เคยไปเยือนเมืองหลวงอันงดงามแห่งนี้เมื่อปีก่อน

คาซัคสถาน เป็นหนึ่งในอดีตสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายลงในปี 2534 ประเทศเล็กประเทศน้อยจึงเป็นเอกราช สำหรับคาซัคสถานเดิมทีมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงอัลมาตี จนกระทั่งเดือน ก.ค.2537 ประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ “อัคโมลา”

ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเวลาที่ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ การเมืองไร้เสถียรภาพ มีคนไม่เห็นด้วยและเกิดเสียงวิจารณ์มากมาย แต่อัคโมลาก็ได้เปิดตัวต่อชาวโลกในนาม “อัสตานา” เมืองหลวงใหม่ของคาซัคสถานในวันที่ 10 มิ.ย.2541

159488911827

สภาคาซัคสถานเพิ่งลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2562 ให้เปลี่ยนชื่อกรุงอัสตานา เป็น "นูร์-ซุลตัน" เพื่อเป็นเกียรติแก่ อดีตประธานาธิบดี “นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ” ที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 มี.ค. หลังจากเป็นประธานาธิบดีคาซัคสถานมาถึง 28 ปี นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย

เหตุผลในการลาออกจากตำแหน่งของประธานาธิบดีผู้ทรงอำนาจไม่มีใครทราบ แต่แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศเผยว่า เป็นไปได้ว่าการอยู่ในตำแหน่งนานๆ อาจถูกหมายตาจากชาติตะวันตก การถ่ายโอนอำนาจอย่างสวยงามน่าจะเป็นทางออกที่ดี

ส่วนเหตุผล ผู้เขียนเคยสอบถามเรื่องนี้กับไกด์สาวสวยชาวคาซัคตอนมีโอกาสไปเยือนเมื่อปีก่อน ได้คำตอบ “ไม่ทราบ ไม่เคยมีใครถามประธานาธิบดี!!!”

แต่แหล่งข่าวจากแวดวงต่างประเทศอีกรายคาดว่า ประธานาธิบดีอาจต้องการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในฐานะประเทศเอกราชก็เป็นได้

และถ้าชมจากภาพยนตร์ จะเห็นความมุ่งมั่นของผู้นำในการสร้างเมืองหลวงใหม่ แม้แต่ชื่อก็เปลี่ยนจากอัคโมลาเป็นอัสตานา โดยให้เหตุผลว่า เป็นคำที่สั้น กระชับ ออกเสียงเพราะในทุกภาษา

159488943282

ด้วยความเป็นเมืองใหม่จึงผ่านการวางผังเมืองมาอย่างดี สองฝั่งแม่น้ำเอซิล (ไอชิม) แบ่งแยกกันชัดเจน ฝั่งขวาเป็นเขตเมืองเก่าที่ยังคงมีอาคารยุคสหภาพโซเวียตหลงเหลืออยู่ ฝั่งซ้ายเป็นเขตเมืองใหม่เต็มไปด้วยตึกรามใหญ่โตแข็งแกร่งและดีไซน์แปลกตา

หนึ่งในนั้นคือ ไบเทเร็ก ทาวเวอร์ (Bayterek Tower) สถาปัตยกรรมสะท้อนตำนานโบราณ หมายถึงต้นไม้แห่งชีวิต

วงกลมสีทองตรงกลาง หมายถึงแต่ละปี นกแห่งความสุขจะบินมาวางไข่ทองคำกลางคาคบไม้ ไข่ทองคำเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ที่ให้ชีวิตและความหวัง

ชั้นชมวิวที่สูงจากพื้น 97 เมตรสะท้อนถึงปี 1997 ที่อัสตานาได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงของคาซัคสถาน คนที่ดีไซน์ไบเทเร็กก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ

คนที่เคยไปเยือนนูร์-ซุลตัน คงนึกภาพออกถึงสถาปัตยกรรมสวยงามมากมายในเมืองหลวงใหม่แห่งนี้ ยิ่งได้ชมภาพยนตร์ที่มีการสอดแทรกฟุตเทจข่าวภารกิจของประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟเป็นระยะๆ จะได้เห็นถึงความมุ่งมั่นว่ากว่าจะสร้างเมืองงดงามอย่างนี้ได้ต้องทุ่มเทสรรพกำลังมากมาย โดยเฉพาะกำลังใจ กำลังคน และกำลังเงิน การลงทุนของภาครัฐในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำถือเป็นแหล่งการจ้างงานอย่างดี

ดูเพลินๆ จนอดจินตนาการต่อไปไม่ได้ว่า หมดโควิดเมื่อใดเห็นทีจะต้องจองตั๋วเครื่องบินไปนูร์-ซุลตัน คาซัคสถานเป็นปลายทางแรกเสียแล้ว