เอสพีซีจี ปีนี้ทุ่ม1.4หมื่นล้าน ลุยลงทุนธุรกิจนวัตกรรมใหม่

เอสพีซีจี ปีนี้ทุ่ม1.4หมื่นล้าน  ลุยลงทุนธุรกิจนวัตกรรมใหม่

เอสพีซีจี ลุยลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาทปีนี้ รุกขยายธุรกิจโซลาร์ในญี่ปุ่น คาดอีก 2 เดือน เล็งผุดธุรกิจใหม่ เตรียมประเมินผลกระทบโควิด-19 ลูกค้าแต่ละราย พร้อมหั่นเป้ารายได้ปีนี้เหลือ 5.5 พันล้านบาท

นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า บริษัท อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อลูกค้าเป็นราย หลังพบว่า ในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าประมาณ 50% ได้หยุดดำเนินงานตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.

“ตอนนี้ เรามีลูกค้าในนิคมฯที่มีศักยภาพจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเป็นพันราย แต่หลังเกิดโควิด-19 ก็ต้องไปไล่ดูว่า ลูกค้าแต่ละรายที่เคยมีแผนจะติดตั้งโซลาร์ฯ ยังจะติดตั้งตามเดิมหรือไม่”

เบื้องต้น บริษัท ประเมินว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก และยาวนาน บริษัท จึงตั้งเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายในปีนี้ ประมาณ 300 ล้านบาท และดูแลเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า เพื่อรักษาอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 51% เช่นเดียวกับระดับปัจจุบัน ขณะที่เป้าหมายรายได้ในปีนี้ปรับลดลงเหลือไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ระดับ 6,700 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังเดินหน้าแผนการลงทุนในปี2563 ตามเดิม ประมาณ 4,000 ล้านบาท พร้อมเพิ่มเงินลงทุนอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ที่จะเน้นนวัตกรรมมากขึ้น คาดว่า จะมีความชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้ นอกจากนี้ ยังจะขยายการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น เพิ่มอีก 65 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังนี้

โดยเป้าหมาย จะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟท็อป สิ้นปีนี้ มากกว่า 500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมอยู่ที่ 360 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งรวมกำลังผลิตของธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนในรูปแบบ Private PPA ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมอยู่ที่ 35-40 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นภายใต้การดำเนินการของบริษัทโซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR ซึ่งเน้นโซลาร์รูฟบนที่พักอาศัยและตลาดเชิงพาณิชย์ เช่น โฮมโปร เป็นต้น ปัจจุบันมีกำลังผลิต ประมาณ 20 เมกะวัตต์

และภายใต้ดำเนินการของ บริษัท MSEK Power โดยมี Mitsubishi UFJ Lease & Finance Company Limited (MUL) บริษัทการเงินใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 58% โดย MSEK จะรุกตลาดกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรม ปัจจุบันมีงานในมือรวม 15-20 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 400-500 ล้านบาท และยังมีโอกาสขยายการเติบโตอีกมาก เนื่องจากมีฐานลูกค้าญี่ปุ่นจำนวนมาก

ขณะที่ เป้าหมายระยะยาวในปี 2580 จะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 3,000 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่เป็นกำลังการผลิตที่มาจากโครงการโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งบริษัท จะเน้นขยายการลงทุนธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น และไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น มองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีก

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจเป็นผู้แทนจำหน่ายและผู้ให้บริการ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) อย่างเป็นทางการ ของ SMA จากประเทศเยอรมนี และบริษัท สตีลรูฟ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านหลังคาเหล็กชั้นนำ ยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี ตามการเติบโตของธุรกิจผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคนี้

นางวันดี กล่าวว่า ส่วนธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในไทย ที่ปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ครบตั้งแต่ปี 2557 จะทยอยหมดอายุรับค่า Adder ลง ตั้งแต่ปี 2563 ไปจนครบทุกโครงการในปี 2567 นั้น จะทำให้รายได้หายไปประมาณ 60% ดังนั้น จึงเตรียมลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม Ukujima ในญี่ปุ่น ซึ่งจะทยอยเสร็จตั้งแต่ปี 2566 จะทำให้มีรายได้เข้ามาชดเชยส่วนที่หายไป และบริษัทยังมองหาโครงการไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติมต่อเนื่อง