เปิดสูตร 'วิเวก ดาวัน' เคลื่อนเมก้าฯ โตสู้โควิด

เปิดสูตร 'วิเวก ดาวัน' เคลื่อนเมก้าฯ โตสู้โควิด

ธุรกิจยา วิตามิน ผลิตภัณธ์เสริมอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ถือเป็นหมวดหมู่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคโควิดน้อย "เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์" เดิมหมากรบธุรกิจไทย ต่างประเทศ หวังปั๊มรายได้โต "เท่าตัว" ปี 68

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบาดทั่วโลก หลายธุรกิจต้องเผชิญผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เพราะกิจการทำมาค้าขายลำบาก ปัจจัยสี่ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ซึ่งเคยเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ กลับถูกหดเหลือเพียง 2 ปัจจัยคือ อาหาร และยา จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ธุรกิจของเมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ในไตรมาสแรกยังคงเติบโตที่ 19%

ทว่าปัจจัยที่ทำให้ยอดขายของบริษัทเติบโตสูงนั้น ส่วนหนึ่งธุรกิจเวชภัณฑ์ยาที่ใช้รักษาโรคต่างๆ ถูกซื้อไปตุนหรือสต็อกไว้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ร้านขายยา และโรงพยาบาล อีกแรงส่ง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จนถูกฟันธงว่าเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตปกติใหม่หรือNew Normal ของผู้บริโภค จึงทำให้การดูแลตัวเอง ไม่ใช่แค่จากภายใน ด้วยการบริโภคอาหารที่ดี การออกกำลังกาย แต่ยังซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามินรับประทานมากขึ้น วิเวก   ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเภสัชกรรมและผลิตภัณฑ์สุขภาพแบรนด์เมก้า วีแคร์” (Mega We Care) ให้มุมมอง

ปัจจัยข้างต้น ส่งผลดีต่อบริษัท แต่ความท้าทายยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ที่ วิเวก” เป็นห่วงอย่างมากคือ กำลังซื้อของผู้บริโภคจะฟื้นตัวกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะวิกฤติโควิด ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบ และคนจำนวนมากตกงาน ขาดรายได้

การขับเคลื่อนธุรกิจครึ่งปีหลัง ท้าทายอย่างมาก อย่างกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคาดการณ์ยากว่าจะกลับมาได้หรือไม่ และเราหวังไม่ให้ครึ่งปีหลังแย่ลง” เขากล่าว และขยายความว่า 

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง จะเน้นการออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง โดยปกติจะออกสินค้าใหม่ 6-10 รายการต่อปี ทั้งนี้สิ่งที่จะโฟกัสมากขึ้น จะเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และมาจากธรรมชาติ ล่าสุด ออกสินค้าเพื่อสุขภาพสำหรับเด็ก และเปิดตัวใหม่สำหรับเครื่องดื่มดร.ดริ้งค์”(DR.DRINK) ซึ่งบริษัทดำเนินการเองทั้งหมด

นอกจากนี้ กลยุทธ์ในการทำตลาดจากนี้ไป ยังให้ความสำคัญกับดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารการตลาด(E-Communication) การทำตลาด(E-Marketing) และสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค (E-Emgagement) ภายใต้กฎกติกาต่างๆ ที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และยาสามารถดำเนินการได้

วันนี้ทุกคนไปออนไลน์กันหมดทำงานจากที่บ้าน ซื้อสินค้าจากที่บ้าน แต่ผลิตภัณฑ์ที่เราทำจำหน่ายมีข้อจำกัดในการทำตลาดที่ค้าขายออนไลน์ไม่ได้ เราจึงเน้นเรื่องการสื่อสารกับผู้บริโภค สร้างเอนเกจเมนต์ผ่านออนไลน์มากขึ้น

แผนธุรกิจระยะสั้น คือการรักษาโมเมนตัมการเติบโตครึ่งปีหลัง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ มียอดขายเติบโต 5-10% 

ทว่า ภารกิจใหญ่ของวิเวกคือการนำพาธุรกิจองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะแบรนด์ เมก้า วีแคร์ อยากเห็นยอดขายเติบโตเท่าตัวภายในปี 2568 หรือทะลุหลัก 2 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนยอดขายรวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 1,100 ล้านบาท

ที่ผ่านมาจึงเห็นบริษัทลงทุนขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ ทุ่มเงินราว 460 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตยาในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตามแผนจะต้องก่อสร้างภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ผลพวงจากโรคระบาด ทำให้แผนงานต้องล่าช้ากว่าเดิมเล็กน้อย การขยายศูนย์กระจายสินค้าในประเทศเมียนมา เป็นต้น

การลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจังหวะที่ดีไหม เราย้ำเสมอว่าเราทำธุรกิจเพื่อการเติบโตในระยะยาว ไม่ใช่ 3-4 เดือน แม้แผนงานจะล่าช้าเล็กน้อย แต่ธุรกิจจะมีรายได้และกำไรตามที่วางไว้ใน 3-4 ปี

ปัจจุบันเมก้าฯจะมีการทำตลาดใน 33 ประเทศทั่วโลก และยอดขายในต่างแดนถือเป็นสัดส่วนใหญ่ราว 80% แต่ปีนี้บริษัทไม่มีแผนจะเพิ่มจำนวนตลาดต่างประเทศ จะมุ่งทำให้ตลาดเดิมมีการเติบโตมากขึ้นมากกว่า

วิเวก เป็นนักธุรกิจอินเดียที่ขับเคลื่อนธุรกิจในไทยกว่า 30 ปี เผชิญวิกฤติมามากมายตั้งแต่ออกสตาร์ททำโรงงาน ผลิตสินค้าไม่ได้ ต้องแก้ไข วิกฤติต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จนถึงโรคโควิดระบาด ซึ่งเขาบอกว่า แต่ละเหตุการณ์ไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับองค์กรมากนัก อาจเพราะโชคดีอยู่ในธุรกิจที่จำเป็นต่อผู้บริโภค ความเสี่ยงล้วนเป็นสิ่งที่องค์กรยอมรับได้ ทว่า สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากธุรกิจคือผู้นำต้องรู้จักเรียนรู้ให้เร็ว ล้มเร็ว และลุกขึ้นเร็วเพื่อก้าวข้ามทุกสถานการณ์ให้ได้

ไม่รู้สึกว่าวิกฤติคือเรื่องยาก เพราะทุกช่วงเวลาล้วนมีความท้าทายใหม่ๆเกิดขึ้น และเราต้องหาทางสู้กับปัญหา ขณะที่โควิดคงไม่ใช่วิกฤติสุดท้าย เราจึงต้องเรียนรู้ และสู้กับสถานการณ์ดังกล่าว