ไทยทุ่ม3,000ล้านบาทเร่งเครื่องวัคซีนโควิด-19ครบวงจร

ไทยทุ่ม3,000ล้านบาทเร่งเครื่องวัคซีนโควิด-19ครบวงจร

“อนุทิน”เผยผลวิจัยโควิด-19ไทยทำ 2 ชนิดแนวโน้มดี สธ.จัดสรรงบฯเงินกู้โควิด 3,000 ล้านบาทสนับสนุน มุ่งตั้งแต่ขั้นวิจัยทดลองถึงผลิต ปรับปรุงโรงงาน-ยันหาขวดบรรจุ เตรียมพร้อมหากขาดแคลนทั่วโลก ซ้ำรอยหน้ากากอนามัย-ยา จุฬา เผยเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19ชนิดเอ็มอ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ของประเทศไทยว่า ได้รับการรายงานเบื้องต้นจากอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าในส่วนของการศึกษาวิจัยที่มีความคืบหน้าอย่างมาก คือ ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการทดลองในลิงแล้วได้ผลดี และชนิดดีเอ็นเอ ของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ที่มีการทดลองในหนูแล้วได้ผลดีสามารถเพิ่มภูมิต้านทานได้ ก็จะมีการเดินหน้าทดลองในสัตว์ใหญ่ คือ ลิงต่อไป ก่อนที่จะถึงมนุษย์ ซึ่งการทดลองกว่าที่จะถึงขั้นที่ทดลองในคนจะต้องผ่านกระบวนการหลายๆอย่างเพื่อให้เกิดความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การวิจัยวัคซีนโควิด-19ของประเทศไทยนับว่ามีแนวโน้มในทางที่ดีเป็นสิ่งที่น่ายินดี


นายอนุทิน กล่าวอีกว่า การสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยวัคซีนนั้น จะมีการจัดสรร จำนวน 3,000 ล้านบาท จากงบฯเงินกู้โควิดที่ด้านสาธารณสุขได้รับ 4.5 หมื่นล้านให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อใช้ในเรื่องการสนับสนุนการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทย ทั้งในส่วนของการศึกษาวิจัยภายในประเทศ โครงการนำร่อง(pilot project) เตรียมทั้งการลงทุนว่าจะลงทุนเองหรือในรูปแบบของการสนับสนุนก็อยู่ที่ขั้นตอนตามกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมถึง การปรับปรุงโรงงาน และคิดละเอียดไปถึงขั้นตอนการทำโรงงานผลิตขวดวัคซีนด้วย เพราะถ้าอนาคตอันใกล้เกิดการค้นคว้าวัคซีนสำเร็จในหลายๆประเทศ ก็จะไม่มีขวดวัคซีนมาใช้อีก ซึ่งสภาพของการขาดแคลนเวชภัณฑ์ในช่วงที่มีการระบาดระดับโลกมีมาแล้ว เช่น หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันพีพีอี หรือยาขาด จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดสรรงบประมาณ ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยยืนบนขาตัวเองให้ได้ ซึ่งเป็นเพียงการสนับสนุนเบื้องต้น หากการผลิตวัคซีนโควิดสำเร็จจริงๆ ไม่ต้องห่วงการสนับสนุนทุกอย่างต้องมุ่งมาอยู่ตรงนี้


“ถามว่าวันนี้ผมกล้าเป็นอาสามสมัครในการทดลองวัคซีนในคนหรือไม่ ก็บอกว่ากล้า เพราะว่าเรามีข้อมูล ไปเห็น ไปสัมผัส ไปพูดคุย ไปสนับสนุนทุกอย่างทำไมจะไม่กล้า ก็พร้อมจะเป็นอาสาสมัครถ้าผู้วิจัยยอมฉีดให้ ซึ่งต้องดูด้วยว่าแพทย์จะกำหนดคุณสมบัติคนที่จะเป็นอาสาสมัครอย่างไร แต่หลักการสาธารณสุขสากล คนที่จะได้รับวัคซีนในช่วงของการทดลอง จะต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพราะอย่างน้อยก็ได้รับการทดลองในขณะที่ทำงานกับผู้ป่วย”นายอนุทินกล่าว 

ด้านศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอว่า หลังจากตรวจภูมิคุ้มกันในลิงทดลองที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกพบว่าได้ผลดีนั้น ในวันจันทร์ที่ 22 มิ.ย.2563 จะมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในลิง เพื่อดูเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไป 

ส่วนการทดลองในคนนั้น ตามหลักการแล้วจะต้องพิจารณาจากหลายอย่าง ที่สำคัญ คือ 1. เรื่องอายุ ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก จะมีอาสาสมัครอายุประมาณ 18 ปี – ไม่เกิน 60 ปี แต่ก็มีบางโครงการก็มีการแบ่งกลุ่มอายุว่า 18 ปี ถึงอายุไม่เกิน 55 ปี และ 55-ประมาณ 70 ปี อีกกลุ่ม 2. ต้องสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้าม ซึ่งที่ระยะแรก ที่วางไว้คือการแบ่งเป็นกลุ่มๆ ที่มีอายุหลากหลาย และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อดูว่าวัคซีนนั้นกระตุ้นภูมิได้หรือไม่ รวมจำนวนบวกลบประมาณ 100 คน แบ่งเป็นกลุ่มๆ ที่ต้องให้วัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน และกลุ่มที่ได้วัคซีนตัวเปรียบเทียบ คล้ายๆ ส่วนระยะที่ 2 ก็จะใช้อาสาสมัครคล้ายๆ กัน แต่เพิ่มจำนวนคนขึ้น

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวด้วยว่า ที่มีข่าวออกมาว่าโครงการพัฒนาวัคซีนของไทย ยังหาอาสาสมัครไม่ได้นั้นไม่จริง เพราะโครงการยังอยู่ในขั้นการทดลองในลิงเท่านั้น ถ้าการทดลองในลิงทุกอย่างเป็นไปตามเป้า คือฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ผลดี ก็เลือกไปผลิตในโรงงาน 1 หมื่นโดส ก็จะมีการเตรียมอาสาสมัคร คิดว่าตอนนั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดรับสมัครอาสาสมัคร เพราะยังไม่ถึงระยะเวลาที่ต้องทำ จะทำข้ามขั้นตอนไม่ได้ 
            ถ้าเมื่อไหร่ที่จะทดสอบในคน มีเงื่อนไขหลายตัว คือ 1.ประสิทธิภาพในสัตว์ทดลองได้ผลดี 2.ข้อมูลความปลอดภัยต้องมากพอ 3.โรงงานผลิตต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับสากล 4.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีข้อมูลว่าวัคซีนหรือยา มีความปลอดภัยมากพอ และ5.ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ถ้าทำที่จุฬาฯ ก็ต้องเป็นกรรมการของมหาวิทยาลัย ถ้าร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็ต้องเป็นคณะกรรมการร่วม หรือคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ส่วนกลาง เมื่อผ่านทุกอย่างจึงจะสามารถประกาศรับอาสาสมัคร

“ถ้ามีผู้ใหญ่ทั้งหลายในรัฐบาล ในกระทรวงจะเป็นอาสาสมัครก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเป็นอาสาสมัครได้ และหลักการวิจัยสิ่งที่ต้องระวังคือต้องไม่มีสิทธิพิเศษ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา คือไม่เกี่ยวกับยากดี มีจน หรือมีอำนาจแค่ไหนทุกคนควรมีโอกาส เพราะอย่าลืมว่าไม่รู้ว่าวัคซีนมันได้ผลหรือไม่ การที่คนจิตอาสามาเพราะอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีนอยู่แล้ว”ศ.นพ.เกียรติกล่าว