รื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มาแค่ "ซ่อมแซม": วราวุธ

รื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มาแค่ "ซ่อมแซม": วราวุธ

สถาปนิกแพร่คาใจ อาคารจะกลับเป็นเหมือนเดิมได้หลังปรับปรุง ชี้ไม่มีแปลนก่อนรื้อ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งย้ำว่า กรณีนี้เป็นการซ่อมแซม 


แต่การซ่อมครั้งนี้เป็นการของบจากจังหวัด และเป็นการซ่อมอาคารไม้ทั้งหลัง ซึ่งไม้ทุกแผ่นกองอยู่ข้างๆ ไม่ได้หายไปไหน 


สาเหตุที่ต้องรื้อไม้ลงมา เพราะฐานรากคอนกรีตของอาคารเสื่อมสภาพ การจะซ่อมได้ต้องทุบทิ้งก่อน และต้องทำฐานรากใหม่ พอทำฐานรากเสร็จแล้ว ก็มาประกอบตัวอาคารใหม่ เมื่อประกอบใหม่ก็มีคนบอกว่าไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าไม่ซ่อมก็พัง หรือถ้าซ่อมแล้วฐานรากไม่แข็งแรงก็พังอีก 


ในเมื่อฐานรากพังคอนกรีตพังไปแล้วเพราะผ่านมาเป็น 100 กว่าปี ก็ต้องมาหล่อกันใหม่ เข้าใจได้ว่าต้องเอาไม้ออกทั้งหลังก่อน เมื่อทำฐานรากเสร็จแล้วก็จะใช้ช่างฝีมือทำเข้าไปใหม่


นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า เมื่อบูรณะแล้วจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ หลายอาคารที่มีการบูรณะรูปแบบที่ทำออกมาแล้วก็เหมือนเดิม แต่สีอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ตนเชื่อว่าทางจ.แพร่มีช่างที่มีฝีมือ จึงเชื่อว่าการประกอบอาคารหลังการบูรณะจะกลับมาเหมือนเดิมได้


ทางด้านนายธีรวุฒิ กล่อมแล้ว อาชีพสถาปนิก ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ กล่าวว่า การที่เราจะรื้อถอนอาคาร หรือปรับปรุงโครงสร้าง อะไรสักอย่าง เราจะประกอบเข้ากันเหมือนเดิมได้ ต้องมีการทำเครื่องหมาย หรือบอกว่า ชิ้นส่วนที่รื้ออกมานั้น อยู่ตรงส่วนไหนของอาคาร 


และที่สำคัญที่สุด อาคารบอมเบย์เบอร์มา หลังที่ถูกทุบทำลายนี้ เป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า ด้วยว่าการก่อสร้างเป็นช่างฝีมือในอดีต ที่ผสมผสานระหว่างฝีมือช่างพื้นบ้านกับ ช่างทางตะวันตก หรือที่เรียกกันเสมอว่า อาคารลักษณะอาณานิคม คือการผสมผสานระหว่างตะวันตก และช่างพื้นบ้าน


ทั้งนี้ที่เด่น คือ การเข้ารอยต่อระหว่างหัวเสา ที่เรียกว่าการเข้าแบบหัวเทียน คือการต่อไม้แบบให้เข้าล๊อค ยึดด้วยตัวไม้เอง ไม่มีตะปูตอกและหาดูได้ยาก สำหรับเทคนิคการเข้าเสาแบบหัวเทียนที่ว่า ในปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็น อีกทั้งอาคารดังกล่าวเป็นการก่อสร้างแบบผสมผสานระหว่างตะวันตกที่มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น และ ตะวันออกบ้านเมืองเราที่มีอากาศร้อน จึงทำให้เห็นการก่อสร้างอาคารมีมีระเบียงที่สวยงาม และช่องลมที่แปลกตา อีกทั้งยังมีการประดับด้วยศิลปะทางเหนือ ลายฉลุต่างๆ ที่สวยงามด้วย


เป็นที่น่าเสียดายที่หาชมสิ่งเหล่านี้ได้ยากแล้วในปัจจุบัน เพราะไม่สามารถเมินคุณค่าที่เสียได้ ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนเมืองแพร่ และ ผู้ที่ได้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญ งบ 4.56 ล้านบาท คงไม่เพียงพอที่จะสร้างกลับมาใหม่ให้เหมือนเดิม นายธีรวุฒิกล่าว


ขณะที่นายเดชา ชัยชนะ อดีต ผอ.กรมทางหลวง และวิศวกร กล่าวว่า ในการเข้ามาดำเนินการของบริษัทรับเหมาดังกล่าวในตอนแรก คือ การปรัปปรุงและซ่อมแซมนั้น เมื่อทำการรื้อบางส่วนพบว่าฐานรากไม่แข็งแรง ทำให้ต้องมีการรื้อถอนไปหมด เป็นการอ้างมากกว่าเพราะก่อนการก่อสร้างนั้น ฐานรากจะแข็งแรงหรือไม่แข็งแรงนั้นอยู่ที่พื้นที่ดินตรงที่ก่อสร้าง เพราะได้ทดสอบมาแล้วว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นการใช้รากฐานของฐานแผ่ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ดังกล่าว เพราะไม่ใช่ที่ลุ่ม 


จะสร้างอะไรต้องมีแบบแปลนที่ชัดเจนเพื่อนำมาคำนวณและเริ่มปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับโครงสร้าง ไม่ใช่เป็นในลักษณะที่เกิดขึ้นกับอาคารว่า ให้ผู้รับเหมาะบอกแล้วค่อยทำแปลน นายเดชากล่าว

159239088788

ภาพ/ สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่