‘กองทุนหุ้นไทย’ กลับสู่จอเรดาร์

‘กองทุนหุ้นไทย’ กลับสู่จอเรดาร์

แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า แต่จนแล้วจนรอด หุ้นไทยก็สามารถทะยานขึ้นมาแตะระดับ 1,400 จุด อีกครั้ง หลังจากที่หลุดลงไปจากระดับนี้ตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าหุ้นไทยจะกลับมาอยู่ในเรดาร์ของบรรดานักลงทุนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ขายมาตลอดทาง ล่าสุดก็กลับมาซื้อต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนสถาบันนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้เล่นหลักที่ผลักดันดัชนีขึ้นมาในรอบนี้

เมื่อหุ้นไทยเริ่มโชว์ผลงาน กองทุนหุ้นไทยก็ดีขึ้นไปตามๆ กัน และกองทุนที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถเอาชนะตลาดได้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พร้อมกับมีผลงานดีมาต่อเนื่องในระยะยาว หนึ่งในนั้นคือ กองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ (TSF)

เมื่อดูจากผลการดำเนินงานย้อนหลังในช่วงที่ผ่านมา กองทุน TSF เริ่มกลับมามีผลงานดีขึ้นในช่วง 6 ปีหลังสุด โดยสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดถึง 4 ปี ใกล้เคียงตลาด 1 ปี และอีก 1 ปี ต่ำกว่าตลาด ทำให้โดยภาพรวมแล้ว ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กองทุน TSF ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.59% ต่อปี ขณะที่ความผันผวนของผลการดำเนินงานอยู่ที่ 15.51% ต่อปี โดยกองทุนนี้เคยมีผลขาดทุนสูงสุด 20.45% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุน TSF กับค่าเฉลี่ยในกลุ่มแล้ว จะเห็นว่าปัจจุบันค่อนข้างจะมีผลตอบแทนโดดเด่นกว่า อย่างผลตอบแทนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา TSF ทำได้ 7.89% ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ -12.20% หรือ 5 ปีที่ผ่านมา TSF ทำได้ 6.83% ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.57%

จุดเด่นของกองทุน TSF ประการแรก คือ ประสบการณ์การลงทุนของกองทุนที่เริ่มจัดตั้งกองตั้งแต่ปี 2547 โดยกลยุทธ์ในปัจจุบันของกองทุนนี้จะเน้นเลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี 10 – 15 ตัว ในไทย ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูง และด้วยขนาดกองทุนที่ไม่ใหญ่มากนัก จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,398.43 ล้านบาท ในปัจจุบัน ทำให้กองทุนนี้สามารถเลือกเข้าลงทุนได้หลากหลาย รวมถึงหุ้นในขนาดกลางหรือเล็ก (Mid-Small Cap) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าตลาดต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

โดยแนวทางการลงทุนของกองทุน TSF จะใช้การวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน (Bottom-up) โดยผู้จัดการกองทุนจะเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทเป็นหลักก่อน โดยเน้นเรื่องข้อมูลงบการเงิน โมเดลธุรกิจ แนวคิดการบริหาร แล้วจึงค่อยกลับไปมองแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเพื่อประกอบการตัดสินใจ

จากข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย. 2563 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่กองทุน TSF เข้าไปลงทุน 3 กลุ่มแรก คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 17.82% กลุ่มปิโตรเคมี 15.64% กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 15.44% โดยหุ้น 5 อันดับแรกที่กองทุนถือมากที่สุดในพอร์ต ได้แก่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 9.20% บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) 9.14% บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) 8.95% บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) 8.58% และบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) 7.83%

สำหรับค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 1.81% ต่อปี และค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน 1%

ในแง่ความเสี่ยงของกองทุน จะเห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่า Beta จะอยู่ที่ราว 1.15 - 1.18 หรือสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของกองทุนจะมากกว่าเมื่อเทียบกับตลาด ขณะที่ความเสี่ยงจากการปรับตัวลดลงมากสุดของกองทุนอยู่ที่ราว 30% เทียบกับค่าเฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกันอยู่ที่ 36% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยลงทุน (NAV) ของกองทุน TSF อยู่ที่ 53.1875 บาทต่อหน่วย (ณ 4 มิ.ย. 2563) โดยนโยบายของกองทุนจะไม่จ่ายเงินปันผล ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนจะถูกสะสมไว้ใน NAV ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยนับแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 10.85%

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นไทย โดยเน้นไปที่หุ้นขนาดกลางและเล็ก กองทุน TSF น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ด้วยผลงานย้อนหลัง 16 ปี และผลตอบแทนเฉลี่ย 10.8% ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ถือเป็นสิ่งที่ช่วยพิสูจน์ความแน่นอนของกองทุนในระดับหนึ่ง