รมว.ท่องเที่ยวฯ ชงหยุดชดเชยสงกรานต์หลายช่วง

 รมว.ท่องเที่ยวฯ ชงหยุดชดเชยสงกรานต์หลายช่วง

"พิพัฒน์" ชง "ศบค." แบ่งวันหยุดชดเชยสงกรานต์ อานิสงส์คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศกระจายหลายช่วง ไม่กระจุกเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่ง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เตรียมพิจารณาเรื่องวันหยุดชดเชยสงกรานต์ในวันศุกร์ที่ 5 มิ.ย.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอให้แบ่งวันหยุดชดเชยสงกรานต์จำนวน 3 วัน ไปรวมกับวันหยุดอื่นๆ ไม่ให้กระจุกรวมกับวันหยุดชดเชยอาสาฬหบูชาเท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่คนไทยเดินทางกลับบ้านไปทำบุญอยู่แล้ว จึงอยากทอดระยะเวลาให้มีช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลายช่วง เพื่อให้คนไทยกระจายการเดินทาง ไม่ให้กระจุกเฉพาะจุดหมายใดจุดหมายหนึ่งในครั้งเดียว

ด้านแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ 2 แพ็คเกจ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับกระทรวงการคลังผลักดันร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือแพ็คเกจ “เที่ยวปันสุข” ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 4 ล้านคน เข้าลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิซื้อบัตรกำนัล (วอเชอร์) สำหรับเป็นค่าห้องพักในการท่องเที่ยวข้ามจังหวัดบนแพลตฟอร์มที่ ททท.เป็นผู้กำหนด เมื่อประชาชนนำวอเชอร์ดังกล่าวไปเช็คอินห้องพัก รัฐจะโอนเงินคืนให้ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้จ่ายในโรงแรม เช่น ห้องพัก ห้องอาหาร สปา และร้านขายสินค้าที่ระลึกต่อไป

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงได้มอบหมายให้ ททท.แบ่งสัดส่วนจำนวนผู้รับสิทธิทั้งหมดเป็นภูมิภาคละ 1 ล้านคน เพื่อกระจายสิทธิและกระแสการเดินทางให้ครอบคลุมทุกภาค ไม่เช่นนั้นผู้รับสิทธิอาจกระจุกเฉพาะคนกรุงเทพฯ ซึ่งอาจขับรถเที่ยวไปเมืองพัทยาหรือหัวหินเท่านั้น

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ได้ขอให้รัฐบาลพิจารณาเปิดประเทศเดือน ก.ค.นี้ เริ่มต้นด้วยการเลือกเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ปลอดโรคโควิด-19 หรือสามารถบริหารจัดการควบคุมโรคนี้ได้ดี

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดแล้วไม่พบเชื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการนำเข้าโรคเข้ามานั้น ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มองว่าจริงๆ แล้วอยากให้มีกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยโดยเร็วที่สุดเช่นกัน แต่ต้องอยู่บนความมั่นใจทุกด้าน เพราะที่ผ่านมาพบกรณีที่ผู้เดินทางเข้าไทยได้ใบรับรองแพทย์ว่าตอนตรวจไม่พบเชื้อ แต่พอเดินทางเข้าไทยแล้วกลับพบเชื้อ