'มหาวิทยาลัย' ในอเมริกา กับพายุโควิด-19

'มหาวิทยาลัย' ในอเมริกา กับพายุโควิด-19

ส่องภาพการศึกษาผ่านกรณีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยในสหรัฐ ที่ต้องเรียนออนไลน์ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และอนาคตภาคการศึกษาในส่วนมหาวิทยาลัยของสหรัฐ จะเป็นอย่างไรต่อไปหลังวิกฤติผ่านพ้นไป

ขณะนี้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในอเมริกาบรรยากาศเงียบเหงา นักศึกษาเรียนออนไลน์กันมาตั้งแต่เดือน มี.ค. และผู้บริหารกำลังกังวลว่า จะทำอย่างไรดีกับภาคเรียนแรกแห่งปี ซึ่งจะเริ่มประมาณเดือน ส.ค. หรือ ก.ย.นี้ และคำถามใหญ่คือ ทำอย่างไรสถาบันทั้งหลายจึงจะผ่านมรสุมนี้ไปได้

ฝ่ายการเงินของสถาบันฯ ก็ต้องรับภาระคืนเงินค่าห้องพักและอาหาร รวมทั้งค่าเล่าเรียนบางส่วน แถมยังเจอปัญหาของรายได้ตก เนื่องจากมหาวิทยาลัยในอเมริกาพึ่งรายได้จำนวนมากจากกีฬาและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการเปิดเข้าค่ายฤดูร้อน เงินบริจาคจากศิษย์เก่าก็ลดลงเป็นระยะ เพราะปัญหาเศรษฐกิจภายนอก มหาวิทยาลัยที่ผมเคยศึกษาปริญญาโท University of Michigan, Ann Arbor คาดว่าปีนี้จะสูญเสียรายได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์

เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐให้เงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษกับสถาบันอุดมศึกษาแล้ว 14,000 ล้านดอลลาร์ และกำลังรออนุมัติอีกรอบหนึ่งประมาณ 46,000 ล้านดอลลาร์

มหาวิทยาลัยบางแห่งกำลังวางแผนเปิดเทอมช้ากว่าปกติ คือ แทนที่จะเปิดตามกำหนดเดิมคือ ส.ค.-ก.ย. ก็อาจเลื่อนไปเปิดเดือน ต.ค. หรือ ม.ค. เพื่อดูสถานการณ์ไปอีกระยะหนึ่ง บางแห่งพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบผสม คือ ให้มีการเรียนในห้องได้ หากมีนักเรียนจำนวนน้อย และมีการเว้นที่นั่งห่างกัน ส่วนวิชาที่ปกติมีผู้เรียนมากถึง 100 คน ก็จะใช้วิธีการเรียนออนไลน์

California State University กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศเมื่อสองวันที่แล้วว่า เทอมแรกของปีนี้ ซึ่งจะเริ่ม ส.ค.แล ะก.ย. จะเป็นการเรียนออนไลน์เท่านั้น กลุ่มสถาบันฯมีนักศึกษาถึง 500,000 คน และอาจารย์รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประมาณ 50,000 คน หลักสูตร 72,000 วิชา ได้ถูกระดมเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนภายในสองเดือน เริ่มตั้งแต่มี.ค.ที่ผ่านมา ให้เหมาะสมกับการสอนแบบออนไลน์ ปัญหาและความขลุกขลักยังมีมาก เพราะอาจารย์ขาดประสบการณ์เรื่องการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเคยชินกับการสอนในห้องเรียน

วิชาที่ต้องลงปฏิบัติด้วยตนเอง เช่น การใช้ห้องทดลอง หรือสถาปัตยกรรม ก็จะมีการลดจำนวนนักศึกษาต่อห้องลง การบริหารเวลาและบุคลากรให้เหมาะสม คาดว่าจะกระทบกระเทือนกับงบประมาณมาก

Harvard University แถลงข่าววันนี้ว่า จะสอนออนไลน์เท่านั้น สำหรับภาคเรียนแรกแห่งปี (ก.ย.-ธ.ค.) และ “หวังว่า” จะสามารถรับนักศึกษาเข้าห้องเรียนและหอพักได้ภายในเดือน ม.ค.ปีหน้า

ขณะที่หลายสถาบันแสดงท่าทีหรือแถลงชัดเจนเรื่องการสอนออนไลน์ แต่ก็ยังมีอีกหลายสถาบันที่ยังลังเลใจอยู่ เนื่องจากมีความกดดันจากหลายด้าน โดยเฉพาะในรัฐที่แนวความคิดทางการเมืองนิยมความมีเสรีภาพส่วนบุคคล และมองว่า การมีกฎระเบียบเข้มงวดเกินไปของภาครัฐเป็นการละเมิดสิทธิ ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาย้ำเตือนว่า หากเปิดประเทศหรือสถาบันการศึกษาเร็วเกินไป การระบาดจะลุกลามขึ้นมาอีกอย่างควบคุมไม่ได้ บวกกับการระบาดอีกรอบหนึ่งที่คาดว่าจะมาในฤดูหนาวนี้

บทความที่ผมเขียนครั้งที่แล้ว วันที่ 29 เม.ย. ชาวอเมริกันเสียชีวิตเพราะโควิดประมาณ 60,000 คน และสองสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงวันนี้ 14 พ.ค.จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 86,541 คน เฉลี่ยการเสียชีวิตต่อวันประมาณกว่า 1,800 คน ส่วนรัฐ Georgia ที่ผมพำนักอยู่ มีประชากร 10.2 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด 35,977 คน และเสียชีวิตแล้ว 1,544 คน เมื่อดูตัวเลขของอเมริกาหรือเฉพาะรัฐจอร์เจียแล้วเทียบกับไทย เราเห็นชัดว่านโยบายและการปฏิบัติของไทยได้ผลกว่า ขอส่งกำลังใจให้ท่านช่วยกันมีวินัยต่อไปครับ 

สำหรับนักศึกษาไทยที่กำลังเตรียมตัวจะมาเรียนต่อที่อเมริกา ก็คงต้องติดตามข่าวระยะนี้อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ให้ได้ โอกาสที่จะเดินทางมาเรียนด้วยตนเองได้ คงไม่เร็วกว่าเดือนมกราคมปีหน้า หรืออาจจะมีการใช้ระบบออนไลน์ต่อไปอีก หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น

การลงทุนเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากอยู่แล้ว และเมื่อมาผสมกับวิกฤติครั้งนี้ ทุกคนจึงต้องคิดหนัก หลายคนได้เลื่อนการศึกษาออกไปอีก และผันตัวเข้าสู่การประกอบอาชีพทั้งส่วนตัว และทำงานให้กับบริษัทหลายแห่ง การใช้นวัตกรรมสื่อสาร ทำให้เยาวชนมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วโลก นายจ้างเองก็เริ่มเห็นประโยชน์จากการที่พนักงานทำงานจากที่บ้าน โดยมีประสิทธิภาพมาก และถือโอกาสปรับยุทธศาสตร์ในการจ้างงานแบบใหม่ ธุรกิจสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาต้องรีบปรับยุทธศาสตร์เร่งด่วน เพราะอุปสงค์และอุปทานเริ่มไม่สมดุลกันครับ