ส่อง 6 เคสได้รับ 'เงินเยียวยา' 5,000 บาท เอาไปทำอะไรบ้าง?

ส่อง 6 เคสได้รับ 'เงินเยียวยา' 5,000 บาท เอาไปทำอะไรบ้าง?

ชวนส่องเคสผู้โชคดีที่ได้รับ “เงินเยียวยา” 5,000 บาท จากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ว่าเมื่อได้รับเงินก้อนนี้แล้ว ได้นำไปต่อลมหายใจหรือนำไปใช้จ่ายอะไรกันบ้าง?

หลังจากที่กระทรวงการคลังทยอยโอน “เงินเยียวยา” 5,000 บาท ของโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ไปก่อนหน้านี้ก็เริ่มได้รับ “เงินเยียวยา” แล้วเช่นกัน มาดูว่าหลังจากได้เงิน 5,000 บาทแล้วประชาชนส่วนใหญ่เอาเงินไปทำอะไรบ้าง?

จากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่นำไปใช้หนี้สิน ซื้ออาหาร และข้าวของที่จำเป็น เช่น นำไปชำระค่าเช่าหอพัก, ชำระค่าแผงเช่าร้านค้า, ชำระค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ, ชำระค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ โดยมีเคสต่างๆ ดังนี้

1. ลิเก ลำตัด นักกีฬา นักมวย มีสิทธิ์ได้ “เงินเยียวยา”

เคสแรกที่น่าสนใจคือ กลุ่มเครือข่ายทางวัฒนธรรมและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ ลิเก ลำตัด นักกีฬา นักมวย ซึ่งทางคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้พิจารณาเห็นชอบช่วยเหลือเพิ่มเติมแล้ว โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งอาชีพกลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือเท่ากับอาชีพอิสระ คือ เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ด้าน ไชยา มิตรชัย พระเอกลิเกคนดังและเจ้าของคณะลิเกมิตร-แป้ง มิตรชัย ได้แสดงความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า ช่วงโรคระบาดและมีประกาศเคอร์ฟิวนี้ ลิเกต้องหยุดรับงานไปเลย ลิเกบางคณะเขารองานช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. แค่ช่วงเวลาเดียวในหนึ่งปีที่รับงานหาเงินได้ หลังจากนี้ก็เข้าหน้าฝนแล้ว เขาก็ทำมาหากินไม่ได้ บางคนไม่มีงานถึงกับร้องไห้ก่ายหน้าผาก

ลิเกลำตัดทุกคณะตอนนี้ขาดรายได้ ไม่มีเงินซื้อสิ่งของปัจจัยดำรงชีพ อาชีพลิเกมีเป็นพันครอบครัว บางครอบครัวไม่มีอาชีพอื่นสำรองเลย แต่พอได้สิทธิ์ “เงินเยียวยา” ให้แบบนี้ชาวลิเกก็ดีใจกันมาก พี่น้องชาวลิเกเฮกันยกใหญ่ เพราะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท ก็จะได้นำเงินไปซื้ออาหาร ซื้อข้าวของจำเป็น และนำไปใช้จ่ายค่าดำรงชีวิตต่างๆ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ตรวจสอบสถานะ! อีก 2.4 ล้านคน จะได้เงินเยียวยา 5,000 ไม่เกินสัปดาห์หน้า

เช็คสถานะ 'เราไม่ทิ้งกัน' ก่อนปิดรับ ยื่นทบทวนสิทธิ ‘เงินเยียวยา’ 10 พ.ค.นี้

158912668518

2. เจ้าของร้านเครื่องเสียง อ.หาดใหญ่ ดีใจมีเงินจ่ายค่าเช่า

เคสถัดมาเป็นหญิงอายุ 44 ปี ผู้ประกอบการร้านเครื่องเสียงแห่งหนึ่ง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับ “เงินเยียวยา” 5,000 บาท จากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เธอบอกว่าได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากสถานการณ์ “โควิด-19” โดยเธอกับสามีได้เช่าบ้านเปิดร้านเครื่องเสียงและซ่อมรถยนต์เล็กๆ แต่ช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ร้านของเธอแทบไม่มีลูกค้าเลย พอได้รับเงิน 5,000 บาท ก็ได้นำไปเป็นค่าใช้จ่ายรายวันและค่าเช่าบ้าน

158912668475

3. ช่างภาพอิสระ นำเงิน 5,000 ไปจ่ายค่าหอพัก

อีกหนึ่งเคสที่น่าสนใจ คือ นายบูชา ศิลาเป็ง อายุ 35 ปี อาชีพช่างภาพอิสระในจังหวัดเชียงใหม่ สายงานอีเว้นท์ งานแต่ง และงานกลางคืน ปกติได้รายได้ประมาณเดือนละ 2 หมื่นกว่าบาท แต่หลังจากได้รับผลกระทบจากโรคระบาด “โควิด-19” ทำให้งานที่ได้รับการจองคิวจ้างไว้นั้น ถูกยกเลิกทั้งหมด 100% บางงานเลื่อนแบบไม่มีกำหนด ทำให้รายหดหายเหลือศูนย์บาททันที แต่รายจ่ายกลับยังมีเท่าเดิม ทั้งค่าหอ ค่าผ่อนรถ

เขาจึงตัดสินใจลงทะเบียนขอรับ “เงินเยียวยา” ซึ่งโชคดีที่หลังจากรอระบบคัดกรองสักระยะ เขาก็ผ่านการคัดกรองและได้รับเงิน 5,000 บาท หลังจากได้รับเงินเยียวยารู้สึกดีใจมาก เพราะช่วยต่อชีวิตได้ อย่างน้อยก็พอจ่ายค่าหอเดือนนี้ไปได้ แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ และไม่รู้ว่าจะหาเงินที่ไหนมาจ่าย จึงจำเป็นต้องออกไปหางานรับจ้างอื่นๆ แม้จะได้เงินวันละ 2-3 ร้อยก็ต้องทำ

158912710296

4. ชาวเมืองตรัง นำเงินไปจ่ายค่าเช่า ค่านมลูก และถอนจำนำ

เคสถัดมาเป็นประชาชนกลุ่มหาเช้ากินค่ำ จ.ตรัง ที่ประสบวิกฤติทางการเงินจากสถานการณ์ “โควิด-19” มีหลายคนได้รับ “เงินเยียวยา” 5,000 บาท ในรอบวันที่ 27 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งต่างก็รู้สึกดีใจ หลังรอคอยมานาน 1 เดือนเต็ม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประชาชนส่วนใหญ่นำเงินก้อนนี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่านมลูก ลงทุนค้าขายเพิ่ม ไถ่ถอนจำนำ เป็นต้น

5. ชาวพิจิตร ดีใจได้เงินไปทำทุนค้าขายต่อ

อีกหนึ่งเคสคือชาวบ้านเทศบาลเมืองพิจิตร มีหลายคนได้รับ “เงินเยียวยา” แล้วเช่นกัน มีหลายคนที่ได้รับเงิน 5,000 บาท ต่างนำบัตรเอทีเอ็มมาทำรายการเบิกถอน เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายและลงทุนประกอบอาชีพ ส่งผลดีต่อย่านการค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองพิจิตร มีประชาชนนำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย เกิดเงินหมุนเวียน

158912668548

6. แม่ค้าขายขนม ดีใจได้เงินเยียวยานำไปจ่ายค่าเช่า

นางประพิมพ์ วงค์ศรีทอง อายุ 67 ปี แม่ค้าขายขนมพื้นบ้านย่านถนนราษฎร์อุทิศใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นอีกหนึ่งเคสที่ได้รับ “เงินเยียวยา” ก่อนหน้านี้แม่ค้าคนนี้ก็ประสบวิกฤติทางการเงินจากสถานการณ์ “โควิด-19” เช่นกัน เพราะขนมขายไม่ดี ไม่มีคนออกมาซื้อ แต่ละวันได้รายได้เพียงวันละ 100-200 บาทเท่านั้น (ยังไม่หักต้นทุนด้วยซ้ำ)

หลังจากได้รับเงินแล้วรู้สึกดีใจมาก และนำเงินก้อนนี้ไปใช้หนี้ที่ยืมมาทันที เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าแผงร้านค้า และค่าอยู่ค่ากินต่างๆ เพราะก่อนหน้านี้ต้องหยิบยืมเพื่อนบ้านมาใช้จ่ายก่อน ซึ่งเงิน 5,000 บาทที่ได้รับมานี้ สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้มาก ขอบคุณหน่วยงานรัฐบาลที่ช่วยเหลือ

158912668531

---------------------------

อ้างอิง:

https://www.komchadluek.net1

https://www.komchadluek.net2

https://www.komchadluek.net3

https://ch3thailandnews.bectero.com

https://www.facebook.com/pg/AChaiyaMitchaiOfficial

MCOT ข่าวเที่ยง