‘การบินไทย’ สายการบินแห่งชาติที่เสี่ยง ‘ล้มละลาย’ รายแรกของโลกช่วงโควิด

‘การบินไทย’ สายการบินแห่งชาติที่เสี่ยง ‘ล้มละลาย’ รายแรกของโลกช่วงโควิด

ท่ามกลางวิกฤติอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ดูเหมือนว่า “การบินไทย” ที่ประสบปัญหาการเงินหนักอยู่แล้ว สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นสายการบินแห่งชาติรายแรกของโลกที่อาจ “ล้มละลาย” ในช่วงโรคระบาดนี้

ขณะนี้ ประเด็น การบินไทยล้มละลาย ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้เลย และไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในช่วงนี้เป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้ บรรดาสื่อต่างประเทศ คาดการณ์ไว้ว่า สายการบินรัฐวิสาหกิจของไทย ส่อเค้าเป็นหนึ่งในสายการบินที่จะหายสาบสูญจากอุตสาหกรรมการบินภายในปีนี้ (อย่างเร็วที่สุด)

เมื่อปลายเดือน เม.ย. เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว (Nikkei Asian Review) ของญี่ปุ่น รายงานว่า การบินไทยตกอยู่ในภาวะอันตรายจนใกล้จะกลายเป็นสายการบินแห่งชาติที่ล้มละลายเป็นรายแรกของโลกในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19

นิกเกอิอ้างรายงานของสื่อไทยที่ระบุว่า การบินไทยเหลือเงินสดอยู่เพียง 1 หมื่นล้านบาท พอสำหรับจ่ายเงินเดือนพนักงานเพียงเดือนเดียว นั่นทำให้สายการบินต้องการให้กระทรวงการคลังอนุมัติเงินกู้มากถึง 7 หมื่นล้านบาท

  • ตกเป็นภาระกระทรวงคลัง

นักวิเคราะห์รายหนึ่งของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ บอกกับนิกเกอิว่า สุดท้ายแล้ว เรื่องนี้จะกลายเป็นภาระของกระทรวงการคลังในการหาทางอุ้มการบินไทย ขณะที่การบินไทยขอเงินกู้โดยอิงตามข้อสันนิษฐานที่ว่าโรคโควิด-19 จะอยู่ในขั้นควบคุมได้ภายในเดือน ต.ค.นี้

ขณะที่ปัจจุบัน กระทรวงการคลังกำลังหาทางช่วยเหลือการบินไทยอยู่ตามที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า “ยังอยากเห็นการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติต่อไป” แต่จะยังเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแผนฟื้นฟู

อย่างไรก็ตาม การบินไทยไม่ใช่สายการบินเดียวในเอเชียแปซิฟิกที่ประสบปัญหาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้หลายประเทศสั่งปิดแหล่งท่องเที่ยวของตนและระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด

158893346623

ก่อนหน้านี้ สายการบินในเครือ “เวอร์จิน ออสเตรเลีย โฮลดิงส์” ของออสเตรเลีย ซึ่งครองส่วนแบ่ง 1 ใน 3 ของตลาดการบินเอเชียแปซิฟิก ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน โดยได้ยื่นขอการบริหารจัดการโดยสมัครใจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายความว่า ผู้บริหารยอมรับว่าบริษัทไม่มีเงินสดแล้ว และขอให้เจ้าหนี้เข้ามาบริหารกิจการแทน

ก่อนโควิด-19 ระบาด การบินไทยประสบภาวะขาลงอย่างหนัก โดยรายงานผลขาดทุนสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2562 นับเป็นการขาดทุนปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.17 หมื่นล้านบาทนับถึงสิ้นปี 2562 ลดลง 42.5% จากปีก่อนหน้า

เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2553 ช่วงที่การบินไทยยื่นขอกู้เงินมากที่สุดครั้งล่าสุด ผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้นบริษัทลดลงมากถึง 84.5%

  • ติด 1 ใน 3 การบินแห่งชาติเสี่ยงล้มในปีนี้

หากย้อนไปในปีที่แล้วถือเป็นปีที่ยากลำบากอีกปีหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมสายการบินโลก ผู้ดำเนินการหลายรายพากันล้มละลายและปิดตัวลง ไล่ตั้งแต่การปิดกิจการครั้งสำคัญของ “โทมัส คุก” บริษัททัวร์เก่าแก่ของอังกฤษ ไปจนถึงการปิดตัวลงของ “เอเดรีย แอร์เวย์ส” สายการบินแห่งชาติของสโลวีเนีย

สำหรับการบินไทยที่ประสบปัญหาการเงินมาหลายปี ยังมีชื่อติด 1 ใน 3 สายการบินแห่งชาติที่จะหายไปจากอุตสาหกรรมในปีนี้ด้วย เมื่อเดือน ม.ค. เว็บไซต์ทราเวล อัพเดท (Travel Update) ระบุว่า แอร์ อินเดีย (อินเดีย), อาลีตาเลีย (อิตาลี) และการบินไทย เป็น 3 สายการบินแห่งชาติที่อาจต้องปิดกิจการภายในปีนี้

ทราเวล อัพเดทให้เหตุผลว่า ปัจจุบัน การบินไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะไม่ได้ปรับตัวรวดเร็วทันความเปลี่ยนแปลงในสมรภูมิการบินทั่วโลก และยังเป็นสายการบินฟูลเซอร์วิสที่อยู่ในตลาดซึ่งบรรดาสายการบินต้นทุนต่ำครองอยู่ในปัจจุบัน

สายการบินแห่งชาติของไทยมีเงินสดร่อยหรอลงเรื่อย ๆ และหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงฟื้นฟูกิจการในหลายเดือนข้างหน้า ก็อาจถึงขั้นล้มละลายได้

ก่อนหน้านั้นในเดือน พ.ย. 2562 เอกนิติ นิติทัณฑ์ ประธานบอร์ดบริหารของการบินไทยในขณะนั้น ได้ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ผู้บริหารคนอื่น ๆ ก็พากันสละเก้าอี้เช่นกัน

เนื่องด้วยรายได้ที่ลดลง 10% และยอดการเดินทางของผู้โดยสารที่ลดลง 5% ในปีก่อน ทำให้สถานการณ์ของการบินไทยดูเลวร้ายลงไปอีกตั้งแต่เปิดศักราช 2563 และแน่นอนว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 อนาคตของสายการบินแห่งชาติอายุ 60 ปี ย่อมมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่อาจจะไปไม่รอด หากไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือไม่มีการปรับโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง