กูรูจับตา‘ไฮยิลด์บอนด์’ ไร้หลักประกัน-ไม่เข้าเกณฑ์BSF

กูรูจับตา‘ไฮยิลด์บอนด์’  ไร้หลักประกัน-ไม่เข้าเกณฑ์BSF

แม้สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่กลับคืนมา แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม

องค์กรตลาดทุน ประกอบด้วย สมาคมตราสารหนี้ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน จึงร่วมจัดเสวนา “Update ทิศทางตลาดตราสารหนี้” วานนี้ (7พ.ค.) 

“ธาดา พฤฒิธาดา”  กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ระบุว่า  ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังติดตามดูแล "หุ้นกู้เอกชนระยะยาว High Yield" ที่จะครบกำหนดในปีนี้เป็นพิเศษ ว่าจะสามารถชำระคืนหนี้หุ้นกู้ได้หรือไม่ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบรายได้ เนื่องจากไม่เข้าข่าย ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตาสารหนี้(BSF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 

โดยหุ้นกู้เอกชนระยะยาว High Yield ที่จะครบกำหนด 7พ.ค.-31 ธ.ค.2563 รวม 3.39 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 8% ของมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนด 4.37 แสนล้านบาท  เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 1.63 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 48% ขณะที่ 36% มูลค่า 1.22 หมื่นล้านบาท เป็นแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสัดส่วนอีก 16% มูลค่า 5.45 พันล้านบาทเป็นแบบขายจำเพาะเจาะจงไม่เกิน10ราย สองส่วนนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง

ทางด้านยอดการออกและซื้อหุ้นกู้เอกชนระยะยาว พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก เริ่มมีความต้องการจากผู้ซื้อ  จากในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมานี้ ยังคงมีประเด็นเรื่องดีมานด์ที่ลดลงอย่างชัดเจนหลังประกาศเคอร์ฟิว  แม้หุ้นกู้เอกชนที่ขายให้กับนักลงทุนส่วนใหญ่ยังขายได้ครบ แต่ความต้องการซื้อลดลง จากเดิมความต้องการสูงกว่ายอดเสนอขาย 3-4เท่า ลดลงเหลือ2-3เท่า 

158890100861

กลุ่มที่ยอดขายอืดมาก คือกลุ่มบุคคลธรรมดา เนื่องจากต้องการถือเงินสดเอาไว้ให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยง  อีกทั้งกลุ่มคนที่ซื้อหุ้นกู้เอกชน ส่วนใหญ่อายุเกิน 50 ปี ซึ่งต้องทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร  แต่ช่วงโควิด-19ระบาด ทำให้กลุ่มนี้ไม่อยากไปสาขา

ทั้งนี้ยอดการออกห้นกู้เอกชนระยะยาวในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมานี้มีมูลค่า 5.02 หมื่นล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบเดือนเดียวกันปีก่อนมีมูลค่า 5.81 หมื่นล้านบาท หรือหดตัวลง 28% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง5ปีในช่วงเดือนเดียวกัน มีมูลค่า 7.02 หมื่นล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1ปีนี้ อยู่ที่ 1.51แสนล้านบาท ลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง5ปี

 ด้าน “ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” ประธานคณะที่ปรึกษา สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า จากบทเรียนในวิกฤติรอบนี้ เราจะต้องพัฒนาตลาดตราสารหนี้ที่เป็นกลุ่มไฮยีลด์ให้เข้มแข็งมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่ผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนได้โดยตรง โดยอาจจะต้องมีกลไกเข้ามาดูแลให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต 

ขณะเดียวกัน มองว่าทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย สามารถพึ่งพาตัวเอง ด้วยสภาพคล่องที่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งในวิกฤตินี้  ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่อยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวสู่โลกใหม่ได้เร็วและดีก่อนกัน เพื่อให้สามารถดึงเงินทุนทั้งในและนอกที่กำลังรอจะกลับมา นับว่าเป็นจุดที่สำคัญและท้าทายบริษัทจดทะเบียนอย่างมาก

 “อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล” นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย บอกว่า ทุกวันนี้ เสถียรภาพในตลาดตราสารหนี้ดีขึ้น จากกลไกภาครัฐที่เข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน และสภาพคล่องไม่ได้หายไปไหน แค่กลับเข้าไปสู่ระบบของสถาบันการเงิน  ส่วนกองทุน BSF ที่เข้ามาช่วย มีต้นทุนที่สูงและเข้มงวด จึงมองว่าจะเป็นแหล่งเงินสุดท้าย ที่จะใช้ช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเท่านั้น  ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เราคงไปหาวงเงินกู้จากธนาคารหรือออกหุ้นกู้ระยะสั้นเท่าที่พอมีไปก่อน คงไม่สายเกินไป และเชื่อว่าทุกคนจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ขณะที่ “วศิน วณิชย์วรนันต์” นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน  ระบุว่า ตอนนี้ตลาดตราสารหนี้มีดุลยภาพที่ดีกว่าเดิมมาก โดยเงินลงทุนไม่ได้หายไปไหน แต่เข้าไปในระบบธนาคารพาณิชย์ และเริ่มมีเงินไหลเข้ามากองทุนเทอมฟันด์บ้างแล้ว และคาดว่าจะไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นกู้เอกชนได้ในช่วงไตรมาส3หากสถานการณ์ต่างๆชัดเจนขึ้น