กฟภ.-กฟน.ชี้โควิดฉุดขายไฟปี 63

กฟภ.-กฟน.ชี้โควิดฉุดขายไฟปี 63

กฟภ.-กฟน. คาดโควิด-19 ฉุดยอดการใช้ไฟฟ้าไตรมาส 2 หดตัวต่อเนื่องจากแม้กลุ่มที่อยู่อาศัยโต 8% ผล WFH ยังรอมติ ครม.คลอดแนวทางอุ้มค่าไฟภาคธุรกิจ

นายวิโรจน์ บัวคลี่ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือ กฟภ. และในฐานะโฆษก PEA เปิดเผยว่า การใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ หลังจากภาครัฐได้ต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ถึงสิ้น พ.ค.นี้ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า การใช้ไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย เติบโตขึ้นประมาณ 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากมาตรการ Work from Home เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรม ลดลงประมาณ 2-3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มจะลดลงมากขึ้น ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้

“เดิมปีนี้ เราคาดว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมคงไม่เติบโตมากนัก เพราะเห็นเทรนด์แล้วว่า ภาคอุตสาหกรรมเริ่มใช้ไฟฟ้าลดลง แม้การใช้ไฟกลุ่มบ้านอยู่อาศัยจะเติบโต แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงได้ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของ กฟภ.อยู่แล้ว ทำให้ที่ผ่านมาก็พยายามขยับตัวไปทำธุรกิจใหม่มากขึ้น”

158885714121

ส่วนการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั้น เบื้องต้น ได้รับมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ให้ผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวฯส่วนที่จะขอยืนอายุไปจนถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอื่นๆนั้น ยังต้องรอฟังครม.ต่อไป

นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และฐานะโฆษก กฟน. กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าของ กฟน. ในปีนี้ มีแนวโน้มติดลบตามประมาณการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) แต่จะลดลงระดับใดก็ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ กฟน.และ กฟภ. ยังร่วมกันชี้แจงแนวทางปฏิบัติตามมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตามมติครม. เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563