หลักเกณฑ์วิธี 'การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์' ฉบับใหม่

หลักเกณฑ์วิธี 'การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์' ฉบับใหม่

เปิดหลักเกณฑ์และวิธีการ "ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์" ฉบับใหม่ จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะบริษัทมหาชนจำกัด ที่ต้องจัดการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นสามัญประจำ และในยุคโควิด-19 หลักเกณฑ์ใหม่นี้เอื้อประโยชน์อย่างไรบ้าง?

จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำกับบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2563 ภายในเดือน เม.ย.2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งจะจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ หรือหากบริษัทมีข้อขัดข้องในการจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นภายในเดือน เม.ย.2563 ก็อาจเลื่อนการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไปก่อนก็ได้

บริษัทมหาชนจำกัดรายหนึ่ง ได้จัดประชุมคณะกรรมการ (คกก.) บริษัท เพื่อพิจารณาว่าจะคงจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ตามวันที่ที่กำหนดไว้เดิม โดยจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 74/2557 เรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ลงวันที่ 27 มิ.ย.2557 หรือเลื่อนการประชุมไปก่อน จนกว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายลง

  • การมอบหมายให้บุคคลปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งแทนคณะกรรมการ

ที่ประชุม คกก.บริษัท พิจารณาแล้วมีมติให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน โดย คกก.ได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา77 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทมหาชนจำกัด ปี 2535 มอบหมายให้กรรมการที่เป็นประธานผู้บริหาร ทำหน้าที่แทนคระกรรมการในการกำหนด วันและสถานที่ประชุมครั้งใหม่ แล้วแจ้งให้ คกก. ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทมหาชนจำกัดรายนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย โดย คกก.จะต้องกำหนดวันที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 89/26 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปี 2535 ด้วย ทั้งนี้วันที่กำหนดต้องเป็นวันที่ล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นไม่เกิน 2 เดือน

การกำหนดวันที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนตาม มาตรา 89/26 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่าเป็นอำนาจของ คกก.บริษัทตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คกก.บริษัทไม่สามารถอาศัยอำนาจอำนาจตามมาตรา 77 วรรคสองของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ปี 2535 มอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติหน้าที่แทน คกก.ได้

จากความเห็นดังกล่าว ดังนั้นแม้ คกก.จะมีมติมอบหมายให้กรรมการที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำหน้าที่กำหนดวันเวลาสถานที่ที่จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นครั้งใหม่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องมีการประชุม คกก.บริษัท เพื่อกำหนดวันที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 89/26 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ 

แต่เนื่องจากมีปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก และประเทศต่างฯ เผชิญกับปัญหาการระบาด ต่างก็กำหนดมาตรการปิดเมือง สายการบินยกเลิกเที่ยวบิน ทำให้มีปัญหากรรมการของบริษัทที่ประจำอยู่ที่บริษัทในเครือในต่างประเทศ และกรรมการที่ไปติดต่อธุรกิจในต่างประเทศ ยังเดินทางเข้าในประเทศไทยไม่ได้ในช่วงนี้ ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถจัดประชุม คกก.บริษัท เพื่อกำหนดวันที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนได้ แม้จะจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่องค์ประชุมไม่ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 74/2557

  • การแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

อันเนื่องจากการระบาดของโรคดังกล่าว ที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้การปฏิบัติงานของภาครัฐและเอกชน ที่จำเป็นต้องมีการประชุมปรึกษาหารือกัน ต้องดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

แม้จะมีประกาศของ คสช. ฉบับที่ 74/2557 อันเป็นกฎหมายกลางในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้วางหลักเกณฑ์ การปฏิบัติการประชุมผ่านสื่อไว้แล้ว แต่ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมยังต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน ไม่สอดคล้องกับการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน จึงได้มีการตราพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ปี 2563 ออกใช้บังแทนประกาศ คสช.ดังกล่าว เรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 27 มิ.ย.2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.2563 เป็นต้นไป

  • พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ

ให้ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 74/2557 เรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 27 มิ.ย.2557 เนื้อหาของบทบัญญัติเกือบทั้งหมดของ พ.ร.ก.ฉบับนี้เหมือนบทบัญญัติเดิมของประกาศ คสช.ฉบับนี้ เว้นแต่มีการกำหนดคำนิยามของคำว่าการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เสียใหม่ เป็น

“การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมที่ได้กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

และแก้ไขคำนิยามของคำว่า “ผู้ร่วมประชุม” หมายความว่า ประธานกรรมการรองประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของ คกก. อนุกรรมการหรือคณะบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งต้องชี้แจงแสดงความเห็นต่อ คกก. คณะอนุกรรมการหรือคณะบุคคลนั้นด้วย

ผลจากการกำหนดคำนิยามของคำว่า “การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เสียใหม่ เป็นการตัดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเดิมที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อยหนึ่งในสามขององค์ประชุมยังต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน และผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในราชอาณาจักร ออกไป ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมก็ครอบคลุมผู้เข้าร่วมประชุมกว้างมากขึ้นกว่าเดิม

ข้อสรุป  จากการที่รัฐบาลตรา พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่อาอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว เป็นการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการประชุม คกก.ของบริษัทมหาชนจำกัด ที่กรรมการหลายคนไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ให้หมดไป

ดยต่อไปนี้กรรมการของบริษัทไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถเข้าร่วมประชุม คกก.บริษัททางสื่ออิเล็กทรอนิกส์และนับเป็นองค์ประชุมได้ถือได้ว่าเป็นเริ่มต้นของความปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) ของการดำเนินธุรกิจของบริษัท จำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ของประเทศไทย อันเนื่องมาจากการระบาดชงโควิด -19 และจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นหากแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้สามารถขอมติของ คกก.โดยหนังสือเวียน ในกรณีเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่มีประเด็นหรือรายละเอียดต้องพิจารณามาก