ส่องกลยุทธ์ '5C' ทางรอดธุรกิจสู้โควิด

ส่องกลยุทธ์ '5C' ทางรอดธุรกิจสู้โควิด

ในขณะที่ "โควิด" ดิสรัปภาคธุรกิจอย่างหนัก "ไพรซ์ซ่า" ปลุกผู้ประกอบการปรับตัว พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ดึงหลัก 5C's เอาชนะวิกฤติโรคระบาดนี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไพรซ์ซ่า (Priceza) จำกัด ซึ่งเป็นเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ธุรกิจการค้า ห้างร้าน สถานบันเทิงถูกปิดหรือล็อคดาวน์ ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด แต่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก การท่องเที่ยว โรงแรมเสียหายอย่างหนัก ร้านอาหารรายได้ลด เพราะผู้บริโภคไม่สามารถทานอาหารนอกบ้านได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การปรับตัวหาทางพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสมีความสำคัญ โดยช่วงนี้ผู้ประกอบการต้องรักษาธุรกิจให้ปลอดเชื้อ เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวและกังวลใจของผู้บริโภค เมื่อลูกค้าไปซื้อสินค้าหน้าร้านไม่ได้ ต้องเพิ่มบริการส่งถึงบ้านเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงการลดค่าใช้จ่าย ควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพทั้งการผลิต การตลาด และด้านบุคลากร เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด

นอกจากนี้ เป็นจังหวะที่ธุรกิจต้องขยายช่องทางการค้าขาย ทำตลาดสู่ออนไลน์ในเชิงรุก เพื่อทดแทนหน้าร้านที่หายไป

“ออนไลน์เป็นช่องทางเหมาะสมกับการขายสินค้าในสถานการณ์ที่คนต้องกักตัว ทำงานจากบ้าน เพราะผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายๆผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแทบเล็ต แต่สิ่งสำคัญคือแบรนด์ต้องเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสม ดูว่าสินค้าของเรามีกลุ่มเป้าหมายแบบไหน แล้วมุ่งไปที่นั่น”

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสามารถนำหลัก 5C’s มาปรับใช้ ได้แก่ 1. เน้นจุดแข็ง (Core Focus) มองหาและนำเสนอจุดแข็งของสินค้าหรือบริการของตัวเองให้เจอ หรือทำสิ่งที่ตนเองชอบถนัดให้เกิดเป็นจุดแข็ง ต่อยอดผลงานสินค้าคุณภาพดี เช่น ถนัดวาดภาพ นำไปรังสรรค์บนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า เป็นต้น

2. การสร้างเนื้อหาที่โดดเด่น (Content Marketing) เมื่อแบรนด์มีสินค้าดี ต้องนำเสนอให้ได้ ปัจจุบันคอนเทนต์ที่กำลังได้รับความนิยมในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ วีดิโอ การสร้างวีดิโอเนื้อหาน่าสนใจ เช่น การแบ่งปันความรู้ด้วยความเป็นกันเอง รีวิวการใช้งานจริง เลือกใช้ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดหรือ Influencer นำเสนอสินค้า เป็นตัวเลือกที่ดีเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย

3. สร้างสังคม (Community Building) คอนเทนท์ที่โดดเด่นจะนำพาคนที่สนใจสินค้าและบริการ นำไปสู่การสร้างฐานชุมชนของลูกค้าและแพลตฟอร์มออนไลน์คือสิ่งที่แบรนด์สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายให้มาอยู่ด้วยกัน โดยแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ที่แนะนำสำหรับสร้างการติดต่อกับลูกค้าที่นิยม ได้แก่ กลุ่มบนเฟซบุ๊ค กลุ่มไลน์ ฯลฯ

4. หาช่องทางกระจายสินค้า (Channels) การมีช่องทางกระจายสินค้ามากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสการขายได้มาก แต่ต้องพิจารณาแต่ละช่องทางเหมาะสมกับสินค้าและบริการที่มีหรือไม่ เพราะปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์มีจำนวนมาก ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ค ยูทูบ แต่มีบทบาทแตกต่างกันไป

5. การบริหารฐานลูกค้า (CRM) การดึงให้ลูกค้าใหม่เป็นเรื่องยาก แต่การรักษาฐานลูกค้าเดิมให้อยู่กับแบรนด์ไปนานยากยิ่งกว่า หากมีลูกค้าแล้วจึงต้องดูแลใส่ใจให้ดี หมั่นสอบถามความถึงพอใจของลูกค้า เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีขึ้น

158866857993