ความขัดแย้งระหว่าง 'ตลาดหุ้น' กับความจริง

ความขัดแย้งระหว่าง 'ตลาดหุ้น' กับความจริง

หลังจากเกิดการเทขายหุ้นไปจากความกังวลวิกฤติโควิด-19 แต่ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกทยอยปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่านักลงทุนในตลาดหุ้นทำไมถึงซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นท่ามกลาง valuation ที่ค่อนข้างแพงกว่าอดีต

ตลาดหุ้นทั่วโลกทยอยปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมาราว 30% รวมถึงตลาดหุ้นไทย นักลงทุนหลายท่านที่ขายหุ้นไปในช่วงเวลาเดือนมีนาคมอาจสับสน เพราะหุ้นที่ขายกลับวิ่งขึ้นไป 30-50% แม้ว่านักวิเคราะห์และนักเศรษฐกิจเตือนว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะหดตัว หรือ recession กำไรของทุกบริษัทที่ประกาศออกมาในไตรมาสแรกน่าจะหดตัวถ้วนหน้า

นับจากประเทศจีนเริ่มผ่อนปรนการเปิด ให้เมืองกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจำนวนคนไข้ใหม่ที่ติดเชื้อไวรัส Covid-19 มีอัตราการเพิ่มที่ลดลงต่อเนื่อง สิ่งที่เราพบคือ โรงงานสายการผลิตสินค้าต่างๆ เริ่มทยอยเปิดกลับมาอย่างรวดเร็ว เหตุเพราะมีออเดอร์ตกค้างมากในช่วงที่โรงงานเหล่านั้นต้องหยุดการผลิต หรือลดการผลิตลงอย่างทันที

ขณะที่ตัวเลขด้านเศรษฐกิจ และการจ้างงานยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว อย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปีก่อนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่นักลงทุนในตลาดหุ้นทำไมถึงซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลาง valuation ที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา

เหตุผลที่พอเข้าใจได้ คือ 

1.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสายตานักลงทุนคือ เหตุการณ์ชั่วคราว นักลงทุนเริ่มเห็นว่าเหตุการณ์นี้จะจบอย่างไร โดยพิจารณาจากการดำเนินนโยบายประเทศจีน ความสามารถในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด การค้นคว้าวัคซีนที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลก แข่งขันกันเพื่อแย่งชิงก้อนเค้กมหาศาลจากความต้องการทั่วโลก

2.สภาพคล่องการเงินทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ทีเดียว เนื่องจากรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต้องอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อช่วยเหลือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายตามมา เมื่อประชากรเกิดความอดอยาก เดือดร้อนในทุกกลุ่มธุรกิจและคนทุกชนชั้น ทำให้นักลงทุนถูกสภาวะ อัตราผลตอบแทนต่ำในตราสารหนี้ และการฝากเงิน ต้องผลักเม็ดเงินมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้เพียงพอตามวัตถุประสงค์ เช่น ทองคำ หุ้น และอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น

3.แน่นอนว่าเม็ดเงินจากธนาคารกลางทั่วโลกกำลังทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ใหญ่ขึ้นในราคาสินทรัพย์ และไม่สะท้อนความสามารถในเชิงเศรษฐกิจที่แท้จริง ผลคือ กิจการ SMEs ต้องทนแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริง หรืออาจเป็นการช่วยสนับสนุนกิจการ SMEs ที่อ่อนแอไม่เหมาะสมในเชิงเศรษฐกิจในคงอยู่ต่อไป ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาระยะยาว

4.บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ในทิศทางเชื่อมั่นมากขึ้น ต่อการเริ่มกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยความหวังว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะกลับไปสู่ระดับปกติในปี 2564 เช่นเดียวกับระดับราคาหุ้นก่อนเกิดเหตุการณ์ไวรัสแพร่ระบาด

แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ ผมคาดว่าธุรกิจบางประเภทอาจไม่ได้กลับมาอยู่ในสถานการณ์เดิม ขณะที่บางธุรกิจอาจมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น หรือกลายเป็น new normal ของสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไป