กษ.เร่งทำ Big Data รับมือวิกฤติอาหารจากโควิด | Green Pulse

กษ.เร่งทำ Big Data รับมือวิกฤติอาหารจากโควิด | Green Pulse

พัฒนาระบบการจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนพัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ปรับเปลี่ยนทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่วิกฤต

โดย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสานักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ สศก. พัฒนาระบบสารสนเทศการเกษตรเชิงพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหาร นำเทคโนโลยีดิจิทัลของ Big Data มาใช้ ในการพัฒนาระบบการจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนพัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ปรับเปลี่ยนทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่วิกฤต

นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมด้านอาหารของแต่ละจังหวัด เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมปกติที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร (New normal) ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาหารของประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงแหล่งอาหาร ทั้งจากสถานการณ์ปิดเมืองและรายได้ที่ลดลงของประชาชน และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับข้อมูลปฏิทินฯ จังหวัด จะช่วยให้ทราบถึงผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญว่า อยู่พื้นที่อำเภอใด ตำบลใด พร้อมจะออกสู่ตลาดปริมาณเท่าใด โดย สศก. จะพัฒนาระบบ สู่ข้อมูลมีความแม่นยำ และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าทั้งในฤดูการเพาะปลูกปัจจุบัน และในฤดูการเพาะปลูกถัดไปได้อีกด้วย
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการค้าขายและการกำหนดมาตรฐานสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น มีการเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการของตลาด เช่น จุดรับชื้อ โรงงาน ตลาดค้าส่งค้าปลีก สหกรณ์การเกษตร Modern Trade จะทำให้เกิดระบบการกระจายสินค้าเกษตรทั้งภายในจังหวัดและข้ามจังหวัดด้วยต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลง และส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนและท้องถิ่นได้

นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร ข้อมูลการรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร ข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ และ Zoning by Agri - Map เพื่อสร้างความยั่งยืน ในการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Information Center: AIC) ของจังหวัด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้า เกษตรให้เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการตลาดร่วมกัน นายระพีภัทร์กล่าว

เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า เมื่อพัฒนาระบบสมบูรณ์ ทางศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ National Agricultural Big Data Center : NABC) จะเผยแพร่เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ครอบคลุมถึงระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า จะสามารถเข้าถึงอาหาร ได้อย่างเพียงพอตลอดเวลา

กระทรวงเกษตรฯ พัฒนา Big Data มาตั้งแต่ปี 2559 โดยปีที่ผ่านมา ได้ยกระดับเชื่อมตามนโยบาย Digital Thailand 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยทางกระทรวงฯ จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน และข้อมูลทางด้านการเกษตรอื่นๆ ที่จำเป็น ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศด้านการตลาด กระทรวงการคลังสนับสนุนแหล่งข้อมูลด้านการเงินของเกษตรกร รวมทั้งแหล่งเงินทุน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญ โรงงานและแหล่งที่ตั้ง กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนข้อมูลการใช้ผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหาร และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จะเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาในการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สนับสนุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง


ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้ผ่าน http://agri-bigdata.org