‘แอสเสทเวิรด์-เคทีซี-ทีโอเอ’ เต็งจ๋าเข้า ‘เอ็มเอสซีไอ’

‘แอสเสทเวิรด์-เคทีซี-ทีโอเอ’ เต็งจ๋าเข้า ‘เอ็มเอสซีไอ’

เผลอแป๊บเดียวเข้าสู่การซื้อขายในเดือนที่ 5 ของปีแล้ว ซึ่งนักลงทุนน่าจะคุ้นเคยกับวลี “Sell in May and Go Away” เป็นอย่างดี

เพราะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นมักจะปรับฐานลงอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นเพื่อนำเงินไปท่องเที่ยวพักผ่อนช่วงหน้าร้อน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เริ่มจากฝั่งตะวันตก ก่อนแพร่หลายไปทั่วโลก

หันกลับมาดูตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ค. ในช่วง 10 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา ปรากฎว่าให้ผลตอบแทนติดลบถึง 8 ใน 10 ปี แต่ใช่ว่าพอเห็นสถิติแบบนี้แล้วจะถอดใจ เพราะไม่ได้หมายความว่าหุ้นทุกตัวจะลงในเดือนนี้ ยังมีโอกาสให้เลือกลงทุนได้อยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเล็งเห็น

อีกธีมที่น่าสนใจ คือ การเก็งกำไรหุ้นที่จะได้รับเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Thailand รอบใหม่ ซึ่งตามปกติจะมีการประกาศทบทวนปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือน พ.ค. และ เดือน พ.ย. ซึ่ง MSCI Index เป็นดัชนีอ้างอิงที่จัดทำขึ้นมา เพื่อให้บรรดากองทุน นักลงทุนสถาบัน นำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการวัดผลตอบแทนของตัวเองเทียบกับผลตอบแทนของดัชนี MSCI

ทังนี้ หุ้นที่จะได้รับเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Thailand ต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มีสภาพคล่องในการซื้อขาย (ฟรีโฟลต) ไม่ต่ำกว่า 15% หรือ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านดอลลาร์

โดยปกติแล้วจะมีการเก็งกำไรไล่ราคาขึ้นมาตั้งแต่ก่อนประกาศราวๆ 2 สัปดาห์ ไปจนถึงวันที่มีการประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการ จากนั้นสามารถต่อรองราคาได้อีกเล็กน้อยก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ มานี้ นักลงทุนมักไล่ราคาและมาขายทำกำไรในวันที่ประกาศรายชื่อหุ้น

หากอ้างอิงข้อมูลจาก บล.เอเซีย พลัส แนะนำการเก็งกำไรธีม MSCI โดยให้ “ซื้อ” ในวันที่มีการประกาศรายชื่อหุ้นเข้าคำนวณรอบใหม่ และ “ขาย” วันที่เข้าคำนวณอย่างเป็นทางการ ซึ่งจากสถิติพบว่าหุ้นที่ได้รับเลือกเข้าดัชนี MSCI Global Standard จะให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5-6% และมีความน่าจะเป็นที่จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 86%

ส่วนหุ้นที่เข้าดัชนี MSCI Global Small Cap จะให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 2-3% และมีความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 60% แต่ราคาจะค่อยๆ ลดลงหลังจากถูกนำเข้าคำนวณในดัชนีแล้ว ขณะที่หุ้นถูกคัดออกมีโอกาสปรับตัวลดลงแรงก่อนวันเข้าคำนวณ จึงแนะนำหลีกเลี่ยงไปก่อน

โดยรอบนี้ถือเป็นการปรับน้ำหนักรอบใหญ่ซึ่งจะมีการประกาศรายชื่อในวันที่ 12 พ.ค. นี้ และมีผล 29 พ.ค. เมื่อซาวด์เช็คเสียงนักวิเคราะห์ในตลาดครั้งนี้ถือว่าออกมาเป็นเอกฉันท์ เรียกว่าใจตรงกันเป๊ะ แต่ละสำนัก (ตามกราฟฟิคด้านบน) ให้หุ้นตัวเต็งที่มีโอกาสเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Standard มา 3 ตัว ได้แก่

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC และ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA และแน่นอนว่า “เมื่อใหม่มา เก่าก็ต้องไป” ซึ่งรอบนี้หวยไปออกที่หุ้นถ่านหิน บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU

ไล่เรียงดูแต่ละตัว AWC ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เป็นบิ๊กดีลหุ้นไอพีโอส่งท้ายปีก่อน ด้วยมาร์เก็ตแคป ณ ช่วงไอพีโอสูงถึง 1.92 แสนล้านบาท มากกว่า 1% ของมาร์เก็ตแคปรวมทั้งตลาดจึงได้ “ฟาสต์แทร็ก” เข้า SET50 ไปเลยทันที

ขณะที่ปัจจุบัน AWC มีฟรีโฟลตสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยอยู่ 25.81% ขณะที่มาร์เก็ตแคปลดลงมาอยู่ที่ 1.69 แสนล้านบาท เป็นไปตามราคาหุ้นที่ลดลงจากราคาไอพีโอที่ 6 บาท มาปิดการซื้อขายล่าสุด (30 เม.ย.) ที่ 5.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 3.77%

ส่วน KTC ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป 8.89 หมื่นล้านบาท และมีสัดส่วนฟรีโฟลตอยู่ 33.71% ขณะที่พื้นฐานยังน่าสนใจ หลังประกาศงบไตรมาส 1/63 ออกมาไม่ขี้เหร่ รายได้ดอกเบี้ยและสินเชื่อยังเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าข่าวดีเข้า MSCI รอบใหม่จะยังช่วยดันราคาหุ้นขึ้นต่อ ก่อนที่ผลประกอบการจะเริ่มชะลอตัวลงในไตรมาส 2/63 จากผลกระทบของโควิด-19

และ TOA ตัวนี้ต้องบอกว่าเรื่อยๆ มาเรียงๆ แต่ไม่ธรรมดา มาร์เก็ตแคปล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านบาท และมีฟรีโฟลตอยู่ที่ 25% จัดอยู่ในกลุ่ม “Growth Stock” ที่น่าจับตามองอย่างมาก ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องมาทุกปี แม้ตลาดในประเทศจะไม่ค่อยหวือหวา แต่ตอนนี้ขุมทรัพย์สำคัญคือการขยายธุรกิจออกไปยังภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังโตแกร่ง หนุนความต้องการใช้สีได้รับอานิสงส์ไปด้วย