ตรวจหาเชื้อไม่ครอบคลุม เปิดช่อง 'COVID-19' ระบาดรอบ2

ตรวจหาเชื้อไม่ครอบคลุม เปิดช่อง 'COVID-19' ระบาดรอบ2

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย มองว่ามีความเป็นไปได้ที่การพบผู้ติดเชื้อน้อยในภูมิภาคเอเชีย เป็นเพราะการตรวจหาเชื้อของเจ้าหน้าที่กระทำได้ไม่ทั่วถึง

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี)ได้เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียซึ่งค่อนข้างต่ำอาจมีสาเหตุมาจากไม่มีการตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง และเรื่องนี้อาจส่งผลถึงความพยายามควบคุมการระบาดของโรคในอนาคตได้

รายงานล่าสุดของเอดีบี ที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจ แต่มุ่งเน้นด้านการแพทย์โดยตรง ยกตัวอย่างว่า ขณะนี้ในสหรัฐ นักการเมืองและประชาชนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เตือนว่า การรีบเปิดเศรษฐกิจเร็วไปโดยยังไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านการควบคุมและรับมือกับการแพร่เชื้อโควิด-19 จะทำให้โรคนี้กลับมาระบาดใหม่อีกครั้งและอาจจะรุนแรงกว่าเดิม

"แอนดรูว์ คูโอโม" ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ เห็นพ้องกับแผนการยกระดับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประชาชนชาวนิวยอร์ก เพิ่มขึ้นเป็น 40,000 คนต่อวัน ซึ่งภายใต้แผนการนี้  รัฐบาลกลางจะจัดส่งชุดตรวจโรคและอุปกรณ์ที่จำเป็นมาให้กับรัฐนิวยอร์ก ซึ่งทางนิวยอร์กจะมอบหมายให้ห้องปฏิบัติการราว 300 แห่งดำเนินการตรวจหาเชื้อให้กับประชาชน และจะจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อเข้ามาช่วยภารกิจที่สำคัญในครั้งนี้ 

ส่วน “อีริค การ์เซ็ตตี” นายกเทศมนตรีนครลอสแองเจลิสของสหรัฐ ประกาศแผนการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสต้นตอโรคโควิด-19 โดยไม่คิดค่าบริการให้กับพนักงานที่มีความจำเป็นทุกคน ไม่จำเป็นต้องแสดงอาการเพื่อขอตรวจ

ผู้ที่มีสิทธิตรวจโควิด-19 ฟรี ได้แก่ พนักงานที่มีความจำเป็น เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ที่ดูแลคนป่วย ภารโรงในโรงพยาบาล พนักงานร้านของชำ พนักงานร้านขายยา พนักงานร้านค้าปลีก พนักงานรัฐ ไปจนถึงพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19

ขณะที่สหรัฐและประเทศร่ำรวยบางประเทศ เช่น เยอรมนี เร่งตรวจหาเชื้อในผู้ป่วยหรือผู้อยู่ในข่ายต้องสงสัย ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็มักจะกล่าวอ้างอยู่บ่อยครั้งว่า อเมริกามีการตรวจหาเชื้อได้มากที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง สัดส่วนของการตรวจหาเชื้อต่อจำนวนประชากรในสหรัฐจะยังต่ำกว่าในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเกาหลีใต้

ด้านหน่วยงานด้านสาธารณสุขของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า เกาหลีใต้จะจัดเตรียมทรัพยากรทางการแพทย์สำหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่มักจะพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่

“ยุน แท-โฮ” เจ้าหน้าที่ฝ่ายฆ่าเชื้อโรคจากสำนักงานใหญ่ของศูนย์จัดการภัยพิบัติเกาหลีใต้ ระบุว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังเตรียมเวชภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวนี้  ซึ่งเชื้อโควิด-19 ที่มีลักษณะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่มาก และมีโอกาสสูงที่จะแพร่ระบาดอีกครั้งในช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อแบบกลุ่มอาจมีความรุนแรงกว่าการติดเชื้อที่เคยเกิดขึ้นในเมืองแทกู

เมืองแทกู  ที่ยุน แท-โฮ พูดถึงคือศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองแทกูและจังหวัดคย็องซังเหนือ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศ

“ตรินห์ ลอง” และ “ปีเตอร์ มอร์แกน” ที่ปรึกษาของธนาคารเอดีบี วิเคราะห์ตัวเลขการตรวจหาเชื้อในเอเชียเทียบกับในประเทศอื่น ๆ โดยพิจารณาจากรายได้ต่อหัวประชากรและพบว่ากลุ่มประเทศที่ร่ำรวยมีแผนงานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้นมากกว่าในประเทศกำลังพัฒนา  ซึ่งเรื่องนี้ มีคำอธิบายที่เป็นไปได้สองอย่างคือ 1. ประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำอาจมีภูมิคุ้มกันมากกว่าหรืออากาศร้อนมีส่วนช่วยยับยั้งการแพร่เชื้อของไวรัส 2.คือการตรวจหาเชื้อในประเทศเหล่านี้ยังทำได้ไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร

แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับว่า ยังมีความรู้อย่างจำกัดเรื่องภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ และองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโฮ)ก็ยืนยันว่า อากาศร้อนไม่ได้ช่วยให้เชื้อแพร่ระบาดน้อยลงแต่อย่างใด แต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อไม่ใช่สิ่งที่ทุกประเทศสามารถทำได้เหมือนกัน

ที่ปรึกษาเอดีบี บอกด้วยว่า เหตุผลที่พอจะอธิบายเรื่องการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำในประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียบางประเทศคือ ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสมีราคาแพงและมีจำนวนจำกัด ทั้งยังต้องแข่งขันกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องการชุดตรวจนี้ด้วยเหมือนกัน

อีกประเด็นที่สำคัญคือ การใช้ชุดตรวจเพื่อหาผู้ติดเชื้ออย่างได้ผลยังต้องอาศัยขีดความสามารถด้านอื่นประกอบด้วย โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และโครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุข เพื่อเก็บตัวอย่าง แปลผลของการตรวจ และสื่อสารผลดังกล่าวไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนป้องกันระดับประเทศ

ที่ปรึกษาของเอดีบีเรียกร้องให้องค์การพัฒนาระหว่างประเทศต่าง ๆ เร่งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 นี้ พร้อมทั้งเตือนว่า การขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการเร่งตรวจหาผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงการตรวจหาผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการนั้น จะมีผลต่อความพยายามของประเทศต่างๆที่ต้องการควบคุมการระบาดของโรค รวมทั้งมีผลต่อการกลับมาเปิดเศรษฐกิจและจะเป็นโอกาสให้เชื้อไวรัสกลับมาระบาดอย่างรวดเร็วได้อีกในอนาคต

ญี่ปุ่น เป็นอีกประเทศในเอเชียที่การตรวจหาเชื้อไม่ค่อยครอบคลุม โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ประกาศแผนขยายศักยภาพในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าให้เป็น 20,000 คนต่อวัน และเพิ่มการตรวจหาเชื้อไวรัสแบบไดรฟ์ทรู โดยผู้รับการตรวจไม่ต้องลงจากรถ ซึ่งการตรวจหาเชื้อแบบไดรฟ์ทรู ได้ดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่ รวมถึงในเมืองนีงาตะ

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าไม่เกิน 12,000 คนต่อวัน ดำเนินการโดยสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ ศูนย์สาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ