AGE ฝ่าวิกฤติโควิด รุก ‘โลจิสติกส์’ เสริมแกร่ง

AGE ฝ่าวิกฤติโควิด  รุก ‘โลจิสติกส์’ เสริมแกร่ง

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี หรือ AGE เริ่มพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมามีกำไรเติบโตอีกครั้ง จาก 120 ล้านบาท ในปี 2560 ขยับขึ้นมาทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 272 ล้านบาท ในปี 2562 ที่ผ่านมา

ต่อเนื่องมาในปี 2563 นี้ "พนม ควรสถาพร" ประธานกรรมการบริหารของบริษัท เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ที่ 8,000 ล้านบาท แต่ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19"  ทำให้ธุรกิจของบริษัทอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรก บริษัทยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก ทำให้ยอดขายยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่บริษัทตั้งเป้าไว้ ส่วนไตรมาส 2 อาจจะเริ่มเห็นผลกระทบที่มากขึ้นได้

“หากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าบริษัทจะบรรลุเป้าหมายยอดขายที่ 8,000 ล้านบาท ได้ค่อนข้างแน่นอน อย่างไรก็ตามบริษัทจะรอพิจารณาสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2 อีกครั้ง เพื่อตัดสินใจว่าจะปรับเป้าหมายปีนี้ลงหรือไม่ แต่หากดูเฉพาะไตรมาสแรก ยอดขายยังคงเป็นไปตามที่คาดไว้”

สำหรับการเติบโตหลังจากนี้ นอกจากธุรกิจถ่านหิน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของยอดขายรวม บริษัทจะมุ่งขยายธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้น ทั้งในส่วนของคลังสินค้า ท่าเรือ และระบบขนถ่าย ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของยอดขายรวม

“การขยายธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้น จะทำให้บริษัทสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ เดิมทีบริษัทอาจจะนำเข้าถ่านหินมาอย่างเดียว ในตอนนี้ก็สามารถใช้เรือ รวมถึงรถบรรทุกในการรับขนสินค้าอื่นๆ ส่งออกไปได้ด้วย สำหรับปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนหลักร้อยล้านบาทเพื่อขยายท่าเรือแห่งที่ 4 และปรับปรุงระบบขนถ่ายสินค้า”

ในส่วนของธุรกิจถ่านหิน เชื่อว่าภาพในระยะ 3 ปีต่อจากนี้ จะยังคงเติบโตได้ เพราะความต้องการใช้ถ่านหินในประเทศสำหรับธุรกิจใหญ่ยังคงมีอยู่ เนื่องจากเป็นพลังงานที่ถูกที่สุดในภาวะปกติ แม้ช่วงนี้ราคาน้ำมันจะลดลงมาต่ำมาก แต่ก็เป็นภาวะที่ไม่ปกตินัก

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ลดลงมาก็เป็นประโยชน์ต่อบริษัทเช่นกัน เพราะเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนการขนส่งสินค้า

ด้านราคาหุ้นของบริษัทที่ปรับตัวลงค่อนข้างมาก จนปัจจุบันมีราคาต่ำกว่าราคาไอพีโอที่ 1.625 บาท (ราคาหลังแตกพาร์) และราคาปัจจุบันยังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี โดยมีค่า P/BV 0.7 เท่า ส่วนค่า P/E อยู่ที่ราว 5 เท่า นายพนม กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทยังแข็งแกร่ง จากผลประกอบการที่มีกำไรมาต่อเนื่อง และปี 2562 ก็สามารถทำกำไรเป็นสถิติสูงสุดใหม่ที่ 272 ล้านบาท

ส่วนปีนี้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยภาพรวม ก็ยังคงเชื่อว่าผลประกอบการจะไม่แย่ขนาดลดลงไปต่ำเท่าปี 2560 – 2561 ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์เข้ามาเสริม

“จริงๆ ราคาหุ้นที่ลดลงมาต่ำ ทำให้สนใจที่จะซื้อหุ้นคืนเช่นกัน แต่บริษัทจำเป็นต้องลงทุนขยายธุรกิจต่อในปีนี้ ประกอบกับบริษัทตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายจ่ายปันผลจากเดิมที่จ่ายทั้งหุ้นและเงินสด ในปีนี้ที่ผ่านมาเปลี่ยนมาจ่ายเป็นเงินสดอย่างเดียว เพราะบริษัทต้องการจะส่งคืนผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก”

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายยอดขายรวมให้ไปถึงระดับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นบริษัทอาจต้องขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยจะเห็นว่าความต้องการถ่านหินในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว บริษัทเชื่อว่าการขยายธุรกิจต่างประเทศจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปี 2564 โดยผลประกอบการของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2560 - 2562 มีรายได้รวม 5,949 ล้านบาท 7,956 ล้านบาท และ 6,235 ล้านบาท 

ส่วนสาเหตุที่กำไรสุทธิในปี 2562 เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนขายลดลงในอัตราที่สูงกว่าการลดลงของราคาขายถ่านหิน ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ต้นทุนการนำเข้าลดลง นอกจากนี้บริษัทยังมีมาตรการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น