พิษโควิดกับวิกฤตอาหาร | Green Pulse

พิษโควิดกับวิกฤตอาหาร | Green Pulse

การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคนในเวลานี้ ได้สร้างแรงกดดันต่องานด้านอาหารและการเกษตรในหลายมิติ

ภาพประชาชนจำนวนหนึ่งบุกกระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลที่มาถึงล่าช้าและอาจมีข้อผิดพลาด ทำให้องค์กรที่ติดตามเรื่องนโยบายความมั่นคงด้านอาหารและความยั่งยืนด้านการเกษตรอย่าง BioThai ต้องหันมาวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจัง และแสดงความกังวลว่า นี่เป็นสัญญาณที่อาจกำลังบอกถึงวิกฤตด้านอาหารที่กำลังก่อตัวขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ขององค์กรที่ทำงานด้านอาหารของโลกอย่าง World Food Programme เช่นกัน

“สำหรับประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งในรูปวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารต่อเนื่องมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี.. ไม่ควรมีใครสักคนในแผ่นดินนี้ที่ต้องอดอาหารเพราะการระบาดของโรค” BioThai หรือมูลนิธิชีววิถีระบุ

หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคนในเวลานี้ ได้สร้างแรงกดดันต่องานด้านอาหารและการเกษตรในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการฉุดราคาสินค้าเกษตรให้ตกต่ำลงจากดีมานต์ที่ลดลงในตลาด การเข้าถึงและอุปสรรคในการกระจายสินค้าจากการกักตุนและปัญหาการขนส่งจากความเข้มงวดในการสกัดการระบาด ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหารที่เริ่มแสดงผลชัดเจนมากขึ้นในเวลาที่มีการปิดเมืองอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

BioThai ได้วิเคราะห์ว่า จากการระบาดที่กำลังเกิดขึ้น วิกฤติจะเกิดขึ้นเป็นสองระลอกคือ ระลอกแรก เป็นผลที่เกิดขึ้นในระหว่างการแพร่ระบาดซึ่งอาจกินเวลานับปีจากนี้ จนมีการ “ควบคุม” การระบาดได้ และระลอกต่อมา จะเป็นผลกระทบต่อเนื่องที่ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งทาง IMF คาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำในระดับเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression เมื่อทศวรรษ 1930

ทั้งนี้ BioThai วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอาหาร จะเกิดขึ้นใน 3 ระยะ กล่าวคือ ผลกระทบในระยะแรกที่เกิดจากความตื่นตระหนก จะส่งผลทำให้เกิดการสะสมเสบียงและกักตุนอาหารกินเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ไปจนถึง 1 เดือนหรือมากกว่านั้น

ผลกระทบในระยะกลาง ซึ่งจะกินเวลาตั้งแต่เริ่มการล็อคดาวน์ ไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ BioThai คาดว่าจะทำให้เกิดปัญาตลอดห่วงโซ่ของระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิต โรงงานแปรรูปได้รับผลกระทบจากการระบาด การขาดแคลนแรงงาน หรือมาตรการกักกันโรคส่งผลกระทบต่อการทำงาน และการขนส่งและกระจายผลิตผล ไปจนถึงผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้โดยสะดวก มีอาหารไม่หลากหลาย ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยและคนตกงานไม่มีเงินพอที่จะซื้อหาอาหารได้อย่างเพียงพอได้

ในขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ไม่สามารถขายสินค้าได้เนื่องจากอุปสรรคในการขนส่ง อย่างกรณีที่ชาวสวนมะม่วงในหลายจังหวัดไม่สามารถขายมะม่วงหรือต้องขายในราคาขาดทุน

นอกจากผลกระทบในระยะสั้นและระยะกลางแล้ว BioThai วิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนยากจนและผู้มีรายได้น้อย

BioThai ได้อ้างอิงการคาดการณ์จากตัวเลขการประเมินของธนาคารโลกขององค์ก OXFAM ว่า หากรายรับหดตัว 20% ซึ่งถือว่าร้ายแรงที่สุด คนยากจนข้นแค้นจะเพิ่มขึ้น 434 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 922 ล้านคนทั่วโลก และประชาชนที่มีรายได้มากกว่า แต่ยังต่ำกว่าระดับ 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 548 ล้านคน หรือมีจำนวนเกือบ 4 พันล้านคนทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทย ธนาคารโลกระบุว่า มีอยู่ประมาณ 9.85% ของประชากร หรือ ประมาณ 6.7 ล้านคน เมื่อปี 2561 โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 13-14 ล้านคน

ทั้งนี้ ยังมีตัวเลขของคนที่คาดว่าจะตกงานจากการประมาณการณ์ของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าอาจจะมีถึง 7 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีผู้ตกงาน 1.4 ล้านคนหลายเท่าตัว, BioThai ระบุ

เมื่อพิจารณาดัชนีราคาอาหารโลกซึ่งจัดทำโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) BioThai พบว่า ราคาสินค้าอาหารเริ่มลดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของความต้องการในตลาดจากการระบาดของโควิด-19 โดยราคาสินค้าอาหารทุกหมวด ได้แก่น้ำตาล น้ำมันพืช นม เนื้อสัตว์ และธัญพืชลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นข้าว

การหดตัวของดีมานด์ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดในต่างประเทศ และอุปสรรคจากการขนส่งสินค้าจากการยกเลิกเที่ยวบิน เป็นต้น ได้ส่งผลให้ราคาผลไม้ในประเทศ เช่น มะม่วงของเกษตรกรในหลายจังหวัดราคาตกต่ำ

ในระยะยาว BioThai เชื่อว่า สินค้าเกษตรอีกหลายชนิดที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศ หรือเป็นเป็นเกษตรกรรมที่ป้อนอุตสาหกรรม จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

“วิกฤตนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อเกษตรกรทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำการผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรม” BioThai ระบุ

158727594733

เครดิต/ BioThai

ความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากเกษตรกรแล้ว กลุ่มคนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากันคือกลุ่มคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยนั่นเอง ซึ่งได้รับผลกระทบในด้านการเข้าถึงและความมั่นคงทางอาหารมากที่สุดในเวลานี้

คณะอาจารย์จาก 6 มหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาผลกระทบที่รุนแรงต่อคนจนเมือง พบว่า มีจำนวนมากรายได้หดหายไป 70% ซึ่งนั่นหมายถึงวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร เพราะครึ่งหนึ่งของรายได้ของคนเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร

BioThai เสนอมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ว่า อย่างน้อยต้องมีข้าวสารอาหารแห้งเพื่อประทังชีวิตแจกจ่ายแก่ชุมชนและประชาชนที่เดือดร้อน ระหว่างรอรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งต้องรีบทำโดยเร็วที่สุดและให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายระยะยาวต่อเรื่องวิกฤติอาหารครั้งนี้ กล่าวคือ รัฐบาลต้องมีหลักประกันให้ประชาชนที่ตกงานและมีรายได้ต่ำทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอในช่วงวิกฤต

ในส่วนของเกษตรกรรมในยุควิกฤตและหลังวิกฤตต้องเป็นการผลิตเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และลดปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้มากที่สุด เน้นตลาดภายในชุมชนและตลาดในประเทศเป็นหลัก

รัฐบาลควรเร่งสร้างระบบการกระจายอาหาร ขยายตลาดท้องถิ่น และการกระจายอาหารโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยไม่ต้องผ่านระบบค้าปลีกที่มียักษ์ใหญ่ครอบครองส่วนแบ่งเกินครึ่ง

นอกจากนี้ ควรขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมความมั่นคงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงที่ดินและแหล่งน้ำ เงินทุน และปกป้องสังคมจาก
การผูกขาดและการสร้างอิทธิพลเหนือตลาดของบรรษัทยักษ์ใหญ่เกษตรและอาหาร

“เราจำเป็นต้องคิดแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจเสียใหม่ โดยพัฒนาจากฐานทรัพยากร วิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศ และเศรษฐกิจอาหาร ซึ่งเกษตรกร ท้องถิ่น และประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้ประโยชน์ เพื่อประชาชนและประเทศไทยจะแข็งแรง มีภูมิต้านทานสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤตอื่นๆที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต” BioThai ระบุ

ทางด้าน WFP ระบุว่า การระบาดของโรคโควิดในเวลานี้อาจยังไม่ส่งผลต่อซัพพลายด์เชนอาหารของโลกมากนัก แต่มันอาจเกิดขึ้นได้หากเกิดความตื่นตระหนกจากสถานการณ์ที่เขม็งเกลียวขึ้น

โดย WFP ระบุว่า มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่สินค้าเกษตรจากแหล่งผลิตจะถูกส่งไปยังแหล่งบริโภค แต่สถานการณ์โควิดกำลังทำให้มันงวดขึ้น และอาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้หากผู้นำเข้าสินค้าเกิดไม่มั่นใจว่าจะมีสินค้าให้ แม้ซัพพลายด์ในเวลานี้จะยังถือว่าเพียงพอสำหรับปีนี้

“มันเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมด้านความมั่นคงทางอาหารที่อาจส่งผลให้เกิดวิกฤติด้านซัพพลายด์อาหารของโลกขึ้นมาได้” ผู้เชี่ยวชาญของ FAO บอก WFP

ภาพ/ FAO