'ท้อปโกลฟ' ผู้ชนะตัวจริง สงครามสกัดโควิดทั่วโลก

'ท้อปโกลฟ' ผู้ชนะตัวจริง สงครามสกัดโควิดทั่วโลก

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อุปกรณ์การแพทย์ไปจนถึงอุปกรณ์ป้องกันไวรัสเป็นที่ต้องการทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ของ "ท้อปโกลฟ" (Top Glove) ผู้ผลิตถุงมือยางเพื่อใช้ในวงการแพทย์ จึงขายดีและมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก จนเรียกได้ว่า ปีนี้เป็นปีทองของบริษัทเลยก็ว่าได้

“ลิม วี ไช” นักธุรกิจชาวมาเลเซีย วัย 62 ปี กลายเป็นคุณปู่เมื่อวันที่ 6 เม.ย. แต่นี่ไม่ใช่ขาวดีเพียงข่าวเดียวท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายคือการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะลิม ยังพบว่าบริษัทท้อปโกลฟของเขาที่มีอายุเกือบ 30 ปี กำลังมีบทบาทสำคัญในระดับโลกด้วยการมีส่วนช่วยหมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขประเภทอื่นๆ ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงนี้  ทำให้ตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดสั่งซื้อสินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ท้อปโกลฟ มีโรงงานผลิต 44 แห่งและว่าจ้างพนักงาน 18,000 คน ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ทันกับความต้องการปริมาณมากในภาวะวิกฤติสาธารณสุขของทั่วโลก โดยถุงมือยางมีส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ดี

คำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว ทำให้ท้อปโกลฟ ที่ปัจจุบันถือเป็นผู้ผลิตถุงมือยางในวงการแพทย์รายใหญ่สุดของโลก มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นระหว่าง 30-35% โดยความต้องการถุงมือยางทั่วโลกขยายตัวปีละ 10% อยู่แล้ว ทำให้ลิม ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของท้อปโกลฟและเป็นประธานบริหารบริษัทแห่งนี้ คาดการณ์ว่า ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสองเท่าในปีนี้

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับระบบห่วงโซ่อุปทานกับสินค้าทุกประเทศมากขึ้น ไล่ตั้งแต่น้ำยาทำความสะอาดมือไปจนถึงหน้ากากอนามัยและถุงมือยางใช้ในวงการแพทย์ โดยก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น คำสั่งซื้อสินค้าของท้อปโกลฟ จะมาจากจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ แต่ตอนนี้ คำสั่งซื้อส่วนใหญ่มาจากประเทศในยุโรปและสหรัฐ

158722280389

“รัฐบาลประเทศต่างๆ ติดต่อมาที่เราเพราะต้องการสั่งซื้อถุงมือยางจากเราโดยตรง เพื่อรับมือกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นมากเราจึงต้องเพิ่มกำลังการผลิต 100%” ลิม กล่าว

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐยังไม่ดีขึ้น ล่าสุด Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกระบุว่า นับถึงวันที่ 18 เม.ย. สหรัฐมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมกว่า 7.1 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 37,000 ราย โดยสหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 และผู้เสียชีวิต

สำหรับยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกนับถึงวันที่ 18 เม.ย. อยู่ที่กว่า 2.27 ล้านราย และยอดผู้เสียชีวิตรวมทั่วโลกอยู่ที่กว่า 1.5 แสนราย

ก่อนหน้านี้ ลิมเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า บริษัทสามารถผลิตถุงมือยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ได้วันละ 200 ล้านชิ้น ลูกค้าบางรายที่สั่งสินค้าด้วยความตื่นตระหนก โดยตามปกติจะสั่งเดือนละ 10 ตู้สินค้า ขณะนี้เพิ่มเป็น 20 ตู้สินค้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน เพราะลูกค้าสั่งเพิ่ม 100%

ขณะที่บริษัทเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียง 20% ทำให้ขาดไปราว 50-80% ซึ่งการสั่งซื้อเป็นปริมาณมากๆ จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องอีก 3 เดือน แต่หลังจากนั้น ยอดสั่งซื้อก็จะอยู่ในระดับสูงต่อไปถึง 9 เดือนแม้ว่าความต้องการในตลาดเอเชียจะเริ่มลดลงบ้างแล้วในช่วงนั้น

158722278810

ในส่วนของถุงมือยางนั้น ก่อนหน้านี้เคยมีการตั้งคำถามในโลกออนไลน์ว่าถ้าเราสวมถุงมือยางอนามัยเวลาที่ออกไปข้างนอกเคหสถานที่จะช่วยป้องกันเชื้อได้นั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาไขข้อข้องใจแล้วว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมให้เหตุผลที่ว่า แม้ว่าการสวมถุงมือยางจะทำให้มือสะอาดและปราศจากเชื้อโรคใดๆ แต่ภายนอกของถุงมือยางถ้าไปสัมผัสเชื้อโรค เชื้อโรคก็ยังติดอยู่เช่นเดิม เพราะฉะนั้น ถ้าผู้สวมใส่เผลอนำมาจับหรือสัมผัสที่ใบหน้า ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสได้

ถ้าเราสังเกตบุคลากรทางการแพทย์สวมถุงมือขณะปฏิบัติหน้าที่ พอเสร็จงานก็จะทำการถอดทิ้งทันที ซึ่งการสวมถุงมือยางป็นเวลานานจึงไม่เหมาะกับการป้องกันเชื้อไวรัสตามจุดสัมผัสในพื้นที่สาธารณะ ทางที่ดีเราควรล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งหลังจากที่สัมผัสพื้นผิวสาธารณะและก่อนที่จะใช้มือจับใบหน้า

มาเลเซีย เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกถุงมือยาง เนื่องจากอุตสาหกรรมถุงมือยางเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก เมื่อประกอบกับมาเลเซีย เป็นแหล่งผลิตยางพาราสำคัญของโลก ทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางของมาเลเซียมีการพัฒนามาเป็นลำดับ

ปัจจุบัน แม้มาเลเซีย ลดพื้นที่เพาะปลูกยางพาราและหันไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน แต่กลับก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 60% โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทิ้งห่างไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 22% 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาเลเซียก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางรายใหญ่สุดของโลก คือ มีเทคโนโลยีการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพที่รวดเร็วและทันสมัย ส่งผลให้กระบวนการผลิตถุงมือยางของมาเลเซียมีประสิทธิภาพสูง

การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ถุงมือยางของมาเลเซียมีคุณภาพสูง และตรงตามความต้องการของประเทศคู่ค้า อาทิ ถุงมือผ่าตัด ถุงมือทนการเจาะทะลุ (สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม) และการพัฒนาถุงมือยางที่มีปริมาณสารโปรตีนต่ำเพื่อแก้ปัญหาการแพ้สารโปรตีนในถุงมือยาง

รัฐบาลมาเลเซีย มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมถุงมือยางอย่างจริงจังโดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี อาทิ การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และภาษีนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต รวมถึงการจัดตั้งสภาส่งออกถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (Malaysian Rubber Export Council) เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกในการรุกตลาดส่งออกใหม่และขยายตลาดส่งออกเดิม ส่งผลให้ผู้ส่งออกถุงมือยางของมาเลเซียสามารถจำหน่ายถุงมือยางผ่านตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ของประเทศคู่ค้าได้โดยตรง

แต่อุตสาหกรรมถุงมือยางของมาเลเซีย ยังมีจุดอ่อนบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในระยะต่อไป โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนน้ำยางข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต ซึ่งเป็นผลจากการที่มาเลเซียมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกยางพาราและหันไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากไทย ซึ่งมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบน้ำยางข้นจากการเป็นแหล่งปลูกยางพาราสำคัญอันดับ 1 ของโลก