ธปท.แจงละเอียดยิบ ทำไมต้องมี กองทุน BSF

ธปท.แจงละเอียดยิบ ทำไมต้องมี กองทุน BSF

ธปท.แจงละเอียดทำไมต้องมีกองทุน BSF หวังเป็นมาตรการเชิงป้อง ลดตื่นตระหนก ช่วยดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวมไม่ให้เสียหายทั้งระบบ

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในสภาวะที่ความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน ทั้งการแพร่ระบาดของCOVID-19 และความไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ เกิดขึ้นพร้อม กันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ประชาชนจำนวนมากต้องการถือเงินสดเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมความมั่นใจในกรณีที่ต้องจับจ่ายใช้สอย

นักลงทุนกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์และปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ลงอย่างมาก รวมทั้งตราสารหนี้ที่แม้ว่าจะมีความเสี่ยงการลงทุนต่ำอยู่แล้ว ส่งผลให้ความต้องการซื้อในตลาดตราสารหนี้ปรับลดมากและกำลังสร้างความตื่นตระหนกต่อปัญหาสภาพคล่องเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้น

ดังนั้น เพื่อหยุดความตื่นตระหนกต่อในวงกว้าง ธปท. เห็นว่าการช่วยเหลือสภาพคล่อง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนโดยรวมมีความจำเป็นที่ต้องทำให้เห็นผลอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน โดย ธปท. มีกลไกดำเนินการที่ให้เป็นไปตามบทบาทและความเสี่ยงตามกฎหมายอย่างรัดกุมแล้ว และเมื่อความเชื่อมั่นคืนกลับมา กลไกตลาดทำงานปกติแล้วบทบาทในส่วนนี้ก็ไม่มีความจำเป็น

1. ทำไมต้องจัดตั้งกองทุน BSF ทั้งที่ยังไม่มีปัญหารุนแรง

มาตรการ BSF เป็นมาตรการเชิงป้องกันล่วงหน้า (preemptive) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และช่วยรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์เสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ลุกลามบานปลายจนสร้างความเสียหายให้แก่ระบบการเงินและเศรษฐกิจในภาพรวม

มาตรการเชิงป้องกันนี้ ต่างจากการดำเนินมาตรการในเชิงแก้ไขปัญหา (resolution) ที่จะรอเกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วจึงมีมาตรการตามมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยบทเรียนจากวิกฤตที่ผ่านมาในหลายประเทศ ได้แสดงให้เห็นว่าการดำเนินมาตรการเชิงป้องกันล่วงหน้านั้นจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหา

2. การดูแลตลาดตราสารหนี้ เป็นบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติหรือไม่

การดูแลตลาดตราสารหนี้เป็นการทำหน้าที่ในการดูแลรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ ธปท. เพราะสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจการเงินไทยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่พึ่งพาการส่งผ่านจากสถาบันเงินเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยพึ่งพาจากทั้ง สถาบันการเงิน ตลาดเงิน และตลาดทุนไปควบคู่กัน

การดูแลให้ระบบการเงินโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพมีความสำคัญในทั้งด้านสถาบันการเงินและตลาดการเงิน ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ปัญหาที่เกิดขึ้น ลุกลามเป็นวิกฤตและส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างได้

3. ธปท. ต้องกู้เงินเพื่อมาตรการ BSF ไหม ใช้เงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศใช่ไหม

มาตรการ ธปท. ทั้ง soft loan และ BSF ไม่มีการกู้เงินหรือนำเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศมาใช้แต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการจัดสรรสภาพคล่องภายในประเทศเท่านั้น โดยในภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญปัญหา สภาพคล่องอาจไม่ได้กระจายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บางภาคส่วนได้รับสภาพคล่องน้อยเกินไป

มาตรการทั้ง 2 มาตรการ เป็นการกระจายสภาพคล่องเงินบาทไปยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบสถาบันการเงินและตลาดตราสารหนี้ จนกว่ากลไกตลาดสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ

4. ธนาคารกลางประเทศอื่นเข้าดูแลตลาดหุ้นกู้หรือไม่

การดูแลตลาดตราสารหนี้เป็นเรื่องที่ประเทศต่าง ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเทศที่ตลาดตราสารหนี้มีบทบาทสูงต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเมื่อกลไกการทำงานของตลาดเริ่มต่างจากปกติ โดยในประเทศต่างๆ ภาครัฐได้เข้าดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง

โดยดำเนินการผ่านธนาคารกลาง เช่น สหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สวีเดน แคนาดา และผ่านธนาคารของรัฐ เช่น Korea  Development Bank ของเกาหลี

5. BSF จะมาช่วยอย่างไร

กลไกตลาดที่ไม่สามารถทำงานได้ปกติจากความวิตกกังวลของนักลงทุนบางส่วน ทำให้การจัดสรรเงินทุนเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ คนบางส่วนมีสภาพคล่องส่วนเกิน แต่ไม่กล้าเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์นอกจากถือเป็นเงินสดขณะที่บางส่วนต้องการเงินทุนแต่ไม่สามารถหาได้ในราคาที่เหมาะสม

ธปท. จึงเข้ามาสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน โดยจะเข้าไปช่วยในกรณีจำเป็น เพื่อแก้ไขกรณีที่กลไกตลาดไม่ทำงาน และป้องกันการตื่นตระหนกที่อาจลุกลามกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน โดยจะให้ความช่วยเหลือกับบริษัทที่มีคุณภาพดีแต่ขาดสภาพคล่องจากการทำงานที่ไม่ปกติของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่ง BSF เป็นมาตรการหลังพิง” (backstop) ระยะสั้น เมื่อตลาดทำหน้าที่ได้ตามปกติ ความเชื่อมั่นกลับคืนมา บทบาทของ BSF ก็จะยุติลง

6. ทำไมหุ้นกู้ของบริษัทที่ดี ไม่ได้รับผลกระทบมาก จึงจะได้รับผลกระทบในการออกหุ้นกู้ไปด้วย

ความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่ปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้นักลงทุนต้องการถือเงินสดหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล้ายเงินสด แม้ว่าในภาวะปกติหุ้นกู้ที่เป็น investment grade จะถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ความตื่นตระหนกและการเทขายสินทรัพย์ในช่วงสั้น ทำให้ตลาดมีสภาพคล่องจำกัด ราคาตราสารหนี้ลดลงเร็ว จนส่งผลให้คนไม่กล้าลงทุนในตราสารหนี้ แม้ว่าบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะเป็นบริษัทชั้นดีและไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์ดังกล่าวก็ตาม

7. ทำไมต้องช่วยตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ในเมื่อคนที่ได้รับผลกระทบเป็นแค่คนส่วนน้อย

ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยมีการพัฒนาไปมาก โดยมีขนาดถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่าร้อยละ20 ของ GDP และเป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งออมที่สำคัญ เป็นช่องทางจัดสรรเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากระบบสถาบันการเงิน

ในด้านการออม ตราสารหนี้เป็นแหล่งลงทุนสำคัญของประชาชน ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนผ่านกองทุนต่าง เช่น กองทุนรวม สหกรณ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม      

โดยการลงทุนของประชาชนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมีขนาดถึง 1 ใน 3 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น การทำให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนยังคงมีสภาพคล่องและดำเนินการต่อไปได้ ก็เป็นการรักษามูลค่าเงินออมของประชาชน และป้องกันไม่ให้ความตื่นตระหนกของนักลงทุนบางส่วนมากระทบเงินออมของประชาชนส่วนใหญ่ได้

ในด้านการระดมทุน การช่วยเสริมสภาพคล่องให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ช่วยให้บริษัทที่มีคุณภาพมีเงินทุนไปดำเนินกิจการต่อ หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่ครบกำหนดที่อาจนำไปสู่การปิดกิจการและการเลิกจ้างพนักงาน

การกล่าวว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบเป็นแค่คนส่วนน้อยนั้นอาจไม่ถูกนัก เพราะปัจจุบันมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนอยู่เป็นจำนวนมากทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

8. ทำไมต้องช่วยนักลงทุนต่างชาติ

ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีการถือครองโดยประชาชนไทยเป็นส่วนใหญ่ถึง 70.7% ผ่านการลงทุนทั้งทางอ้อม (40.5%) และทางตรง (30.2%) โดยส่วนที่เหลือเป็นการถือครองของบริษัทประกันชีวิตเป็นหลัก (15.7%) ขณะที่นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชนเพียง 9 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.2% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาทเท่านั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์เกือบทั้งหมดคือผู้ออมคนไทย

9. ทำไมไม่ให้บริษัทที่มีปัญหาไปกู้ยืมจากธนาคารมาแทนที่จะออกหุ้นกู้

การขอสภาพคล่องจากกองทุน BSF นั้น มีเงื่อนไขให้ธุรกิจต้องไปหาสภาพคล่องจากแหล่งอื่นให้ได้เป็นส่วนใหญ่เช่น กู้ยืมธนาคาร หรือระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ส่วนที่ขาดจึงมาขอรับความช่วยเหลือจาก BFS ซึ่งหากได้รับการพิจารณา ก็จะได้รับ bridge financing ระยะสั้น

BSF จึงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือพร้อมใช้กรณีจำเป็น เปรียบได้กับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในกรณีโควิด 19 เป็นการเตรียมความพร้อมให้มี last resort ในการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยไม่ได้ช่วยทั้งหมดหรือช่วยทุกรายที่เข้ามาหา แต่ต้องผ่านเงื่อนไขและคุณสมบัติต่าง ที่ถูกกำหนดไว้โดยคณะกรรมการกำกับกองทุนและคณะกรรมการลงทุน

10. ทำไมไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งน่าจะรู้จักธุรกิจดีกว่า ซื้อหุ้นกู้ แล้ว ธปท. ค่อยสนับสนุนสภาพคล่องผ่านทำ repo

ธปท. ได้มีการพิจารณาแนวทางดังกล่าวเช่นกัน และเห็นด้วยว่าธนาคารพาณิชย์มีความรู้จักคุ้นเคยกับภาคธุรกิจแต่ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่มากถึง 20% ต่อ GDP (และประมาณ 1 ใน 3 ของสินเชื่อภาคธุรกิจที่ปล่อยโดยธนาคารทั้งหมด)

ภาคธนาคารอาจมีขนาดไม่ใหญ่เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจทั้งหมดได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ภาคธนาคารมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ขนาด balance sheet ของธนาคาร ซึ่งต้องรองรับมาตรการอื่น ของรัฐบาล รวมถึงยังมีประเด็นการประสานวงเงินกรณีผู้ออกตราสารหนี้มีธนาคารเจ้าหนี้หลายราย ที่อาจทำให้กระบวนการพิจารณาเกิดความล่าช้าไม่ทันการณ์

 

11. วงเงินและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ BSF

• BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนเพิ่ม (top up) ที่ให้กับธุรกิจ โดยธุรกิจต้องหาเงินทุนจากแหล่งภายในและภายนอกเป็นส่วนใหญ่มาก่อน

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือจาก BSF จะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน

โดยบริษัทสามารถไถ่ถอนตราสารหนี้คืนได้ก่อนครบกำหนด

ต้นทุนการกู้ยืมจาก BSF จะสูงกว่าการกู้ยืมในตลาด เพื่อให้ธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินทุนอื่นก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือต้องจัดทำแผนการจัดหาเงินทุนในระยะยาวเพื่อประกอบการพิจารณา

และเมื่อได้รับอนุมัติ บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กองทุนฯ กำหนดระหว่างที่ขอรับความช่วยเหลือ เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล

12. BSF ช่วยอุ้มแต่บริษัทใหญ่ เอื้อให้บริษัทที่ระดมทุนด้วยหุ้นกู้ได้เปรียบบริษัทอื่น หรือไม่

สถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ มาตรการภาครัฐจึงต้องครอบคลุมในการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับธุรกิจทุกขนาดเพราะหากบริษัทประสบปัญหาต้องหยุดกิจการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และลุกลามไปสู่ธุรกิจอื่น รวมถึงการจ้างงาน จนกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง

โดยบริษัททุกขนาดที่ออกหุ้นกู้ อาจได้รับความช่วยเหลือจาก BSF ขณะที่ธุรกิจ SMEs ก็จะได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเพิ่มเติม ผ่านมาตรการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ (loan payment holiday) รวมถึงมาตรการ soft loan ของทั้ง ธปท. และธนาคารออมสิน

13. ทำไมช่วยเฉพาะคนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี แต่ไม่ช่วย non-investment grade ซึ่งอาจต้องการสภาพคล่องมากกว่า

มาตรการ BSF มีจุดมุ่งหมายหลัก คือ การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยตราสารหนี้ส่วนใหญ่กว่า 96% อยู่ในกลุ่ม investment grade ซึ่งมีผู้ลงทุนหลักเป็นประชาชนทั่วไป ผ่านการลงทุนในกองทุนรวม สหกรณ์ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่าง

ซึ่งหากเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องจะส่งผลถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จึงเป็นส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

ขณะที่กลุ่ม non-investment grade มีสัดส่วนเพียงประมาณ 4% ของตลาด และเป็นการเสนอขายแบบวงจำกัดเกือบทั้งหมด ผู้ถือครองส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับกิจการหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ ... อยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกมาตรการดูแลบริษัทที่อาจประสบปัญหาในการ rollover รวมถึงการใช้กลไกการเจรจากับเจ้าหนี้เดิมให้ยืดอายุหนี้ออกไป

14. จะมั่นใจได้อย่างไรว่า BSF จะเลือกซื้อหุ้นกู้ของบริษัทที่มีคุณภาพ

... ระบุโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนไว้ชัดเจน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยจะมีคณะกรรมการกำกับกองทุน (Steering Committee) เป็นผู้ให้กรอบการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงรวมถึงกำกับดูแลให้คณะกรรมการลงทุน (Investment Committee) พิจารณาคัดเลือกตราสารตามกรอบที่กำหนดไว้

ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองชุด จะประกอบด้วยตัวแทนของภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านตลาดตราสารหนี้ รวมถึงที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญจากภายนอก ช่วยในการกลั่นกรองคุณภาพของผู้ออกตราสารหนี้

15. ธปท. มีแนวทางควบคุมความเสี่ยงจากตราสารที่รับมาอย่างไร

BSF ช่วยเหลือผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็น investment grade ก่อนสถานการณ์ COVID-19 แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว และมีแนวโน้มจะเป็น investment grade ได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือต้องจัดทำแผนการจัดหาเงินทุนในระยะยาวเพื่อประกอบการพิจารณา และเมื่อได้รับอนุมัติความช่วยเหลือแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กองทุนฯ กำหนด

เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น และระหว่างที่รับความช่วยเหลือ บริษัทห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ตราสารที่กองทุน BSF เข้าซื้อเพื่อให้ความช่วยเหลือ จะต้องเป็นตราสารไม่ด้อยสิทธิ์ และหากบริษัทให้หลักประกันแก่นักลงทุนทั่วไป ตราสารหนี้ที่กองทุน BSF ลงทุนในคราวเดียวกันนี้จะต้องมีหลักประกันไม่ด้อยกว่าด้วย

16. ทำไม ธปท. เลือกดำเนินนโยบายในตลาดแรก

การเลือกตลาดแรกหรือตลาดรองนั้น ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการทำนโยบายของแต่ละประเทศ โดยการเข้าซื้อในตลาดรอง ส่วนมากเป็นไปเพื่อการดูแลอัตราผลตอบแทนและต้นทุนการกู้ยืมของบริษัท

ขณะที่การดูแลในตลาดแรกมักเป็นไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรักษากลไกการระดมทุนของตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความสามารถในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย อีกทั้งตลาดรองตราสารหนี้มีธุรกรรมจำกัด

ดังนั้น การดำเนินนโยบายในตลาดแรกเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของไทย จึงเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากกว่า

17. BSF วงเงินสูง แต่หากมีการใช้น้อยแปลว่าไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่

ไม่ใช่ การที่มีบริษัทมาขอความช่วยเหลือจากโครงการนี้น้อย สะท้อนว่าธุรกิจสามารถหาเงินทุนได้จากแหล่งอื่นซึ่งเป็นสัญญาณว่าตลาดกลับมาทำงานได้ตามปกติ มาตรการที่ออกมาสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ตลาด เมื่อตลาดมีความเชื่อมั่นและดำเนินงานได้ตามปกติ โดย ธปท. ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือสภาพคล่อง นับว่าเป็นสิ่งที่ดี

18. ใครบ้างจะมีสิทธิ์เข้ารับความช่วยเหลือตามเกณฑ์ BSF

ผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย

ต้องไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือ บริษัทลูกของสถาบันการเงิน

มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) วันที่มาขอรับความช่วยเหลือ โดยบริษัทต้องมีฐานะการดำเนินงานดี แต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว และมีแนวโน้มจะเป็น investment grade ได้ต่อเนื่อง

มีตราสารหนี้สกุลเงินบาทที่มียอดคงค้าง วันที่จัดตั้งกองทุน BSF ที่ครบกำหนดในปี 2563

ต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งภายในหรือภายนอกให้ได้เป็นส่วนใหญ่ก่อนได้รับความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือของ BSF จะขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการลงทุนของกองทุน

19. บริษัทที่สนใจจะต้องทำอย่างไร

ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจะสามารถหาข้อมูลติดต่อและแจ้งความจำนงผ่านช่องทางของผู้จัดการกองทุน