COVID-19 ทำกราฟสัดส่วนคนจนพุ่งสูงขึ้น ต้องช่วยกันฉุดลง

COVID-19 ทำกราฟสัดส่วนคนจนพุ่งสูงขึ้น ต้องช่วยกันฉุดลง

COVID-19 จะทำให้กราฟสัดส่วนคนจนพุ่งสูงขึ้น ต้องเร่งสร้างกลไกและกระบวนการฉุดกราฟสัดส่วนคนจนไม่ให้พุ่งชัน

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 63 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ถึงสถานการณ์โควิด-19 โดยเนื้อหาระบุว่า...

หากวิกฤต covid-19 ลากยาว 6 - 12 เดือน จะทำให้รายได้ของคนไทยกลุ่ม 40 % ล่างหายไป 30 % อันจะทำให้คนจนในประเทศไทยพุ่งขึ้นเป็นเกือบ 19 ล้านคน จากเดิมไม่ถึง 7 ล้านคน !

นี่คือสารัตถะจากมุมมองของดร.สมชัย จิตสุชนแห่ง TDRI

แม้ว่าจะเป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้น หรือที่ภาษานักวิจัยเรียกว่า quick exercise เท่านั้น ยังไม่ควร ‘ตระหนก’ ไปกับตัวเลขที่ดูน่าสยดสยองก็ตาม และการใช้ตัวเลขนี้ต้องกระทำอย่างระมัดระวังยิ่งก็ตาม แต่พวกเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลและรัฐสภาจะต้อง ‘ตระหนัก’ ไว้เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างชนิดพลิกวิธีคิดและชุดความคิดกันใหม่ในระดับ reset ระบบทีเดียว ไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแบบเดิม ๆ เท่านั้น

เพราะอาจารย์หมอทั้งหลายก็บอกแล้วว่า covid-19 จะอยู่กับเราไปอีกหลายเดือนแน่ ๆ และกว่าจะมีวัคซีนมาถึงคนไทยก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 18 เดือน

คนจนเพิ่มขึ้นแน่ ! ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้นแน่ !

หมดภารกิจฉุดกราฟจำนวนผู้ป่วยไม่ให้พุ่งชัน จะถึงภารกิจใหม่ร่วมกันฉุดกราฟสัดส่วนคนจนของประเทศไม่ให้พุ่งสูงขึ้นชันเกินไป หรือให้แบนราบได้ยิ่งดี

จะทำอย่างไร ?

ผมขอคิดเร็ว ๆ ในเบื้องต้นว่ารัฐบาลน่าจะต้องเร่งจัดให้มีกลไกและกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำโดยเร็ว หลังจากถูกบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปประเทศ และเคยมีมติคณะรัฐมนตรีปรากฎเป็นข่าวชื่นชมกันมาแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2561 แล้วก็เป็นแค่มติคณะรัฐมนตรีและข่าวฮือฮาก่อนเลือกตั้งเท่านั้น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อการนี้ยังไม่ออกมาแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 1 ปีแล้ว

ผมขอย้ำเสนออีกครั้งให้เร่งยกระดับจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้รัฐสภามีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา

สารัตถะของกลไกและกระบวนการนั้นควรคิดใหม่ทำใหม่เปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาจโดยผ่านทางองค์กรภาครัฐที่ทำงานกับภาคประชาชน ไม่ใช่แค่ให้เป็นบทบาทของภาครัฐราชการเท่านั้น

ตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติจัดกลไกและกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำขึ้นมาโดยเร็วเถอะครับ ให้มาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกครึ่งหนึ่ง ใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่สภาพัฒน์ยกร่างไว้ก่อนมาเป็นตัวตั้งก็ได้ครับ ส่งเข้ารัฐสภาในฐานะร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้ได้ภายในสมัยประชุมที่จะถึงนี้

ต้องเร่งสร้างกลไกและกระบวนการฉุดกราฟสัดส่วนคนจนไม่ให้พุ่งชัน !

เรียนเสนอมาอีกครั้งด้วยความเคารพ

คำนูณ สิทธิสมาน

สมาชิกวุฒิสภา
14 เมษายน 2563