มาแน่! ‘อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน’ เปิดให้ใช้งาน 19 เมษายนนี้

มาแน่! ‘อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน’ เปิดให้ใช้งาน 19 เมษายนนี้

คลังย้ำ เปิด “อุทธรณ์” ทางเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” เท่านั้น เพื่อป้องกัน ไวรัสโคโรน่า ตามมาตรฐานสาธารณสุข คาด 19 เมษายนนี้ พร้อมเปิดให้ยื่นเรื่อง

กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงผ่าน เพจสถานีข่าวกระทรวงการคลั ถึง การอุทธรณ์ ผลการพิจารณาเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท จะเริ่มเปิดให้ดำเนินการเฉพาะทางออนไลน์ ทาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com เท่านั้น ในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณวันที่ 19 เมษายน 2563 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันการระบาดโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข 
    
จึงไม่มีการเปิดจุดรับร้องทุกข์สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณารับเงินเยียวยา ที่โรงอาหารกระทรวงการคลังอย่างที่ปรากฎเป็นข่าวไป แต่อย่างใด
    
158679650917
ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังยืนยันว่า ประชาชนที่ต้องการอุทธรณ์ จึงไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องมาที่กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จะมีการเพิ่มปุ่มเพื่อ อุทธรณ์ ในสัปดาห์หน้า ขอแนะนำให้ทำการอุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านระบบ online จะถูกต้องและรวดเร็วที่สุด 
    
ระหว่างนี้หากประสงค์จะร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา 5,000 บาทขอให้ติดต่อ call center ของธนาคารกรุงไทย 021111144 (ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือ call center ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 022739020 (เฉพาะวันและเวลาราชการ)
   
สำหรับ การตรวจสอบคัดกรอบผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน ในรอบแรกกว่า 7.99 ล้านรายที่ผ่านมา นั้นสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 
    
กลุ่มผ่านเกณฑ์ 1.68 ล้านราย ซึ่งในกลุ่มนี้ได้ทยอยส่ง SMS แจ้งผลการพิจารณาและโอนเงินเข้าบัญชีหรือพร้อมเพย์ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วในช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
    
กลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม 1.53 ล้าน​ราย โดยการกรอกแบบสอบถามออนไลน์ ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com (หัวข้อ ขอข้อมูลเพิ่มเติม) ขอความกรุณาให้ดำเนินการภายใน 10 วัน นับจากวันที่ได้รับ SMSแจ้งเพื่อการประมวลผลที่รวดเร็ว ซึ่งได้เริ่มทยอยส่ง SMS แจ้งผลการพิจารณาแล้วตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2563
   
กลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ 4.78 ล้านราย จะทยอยได้รับ SMS แจ้งผลการพิจารณาในช่วงวันที่ 12-14​ เมษายน 2563โดยส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์​ เนื่องจากได้รับการดูแลผลกระทบจาก Covid-19 โดยรัฐบาลผ่านช่องทางอื่น​ เช่น ข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ผู้ได้รับสิทธิ์ประกันสังคม เกษตรกร เป็นต้น
    
หรือกลุ่มที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น นักเรียน นักศึกษา ซึ่งยังคงมิได้ประกอบอาชีพเป็นหลัก และส่วนหนึ่งได้รับการดูแลผ่านช่องทางกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกลุ่มที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ผู้ค้าขายออนไลน์
     
โดยที่ผ่านมา ในกระแสสังคมออนไลน์ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และโปร่งใสของระบบพิจารณาคัดกรองผู้ลงทะเบียน เราไม่ทิ้งกันอย่างกว้างขวาง จนนำมาสู่การชี้แจ้งเรื่องของการอุทธรณ์การลงทะเบียนในที่สุด