‘หุ้นไทย’ โค้งแรกรูดหนักอันดับ3 พิษ'กำไรบจ.'ถูกหั่นมากสุด

‘หุ้นไทย’ โค้งแรกรูดหนักอันดับ3 พิษ'กำไรบจ.'ถูกหั่นมากสุด

คงพอรับรู้กันแล้วว่า "ตลาดหุ้นไทย "เป็นหนึ่งในตลาดที่ “ร่วงหนักสุด” ในปี 2563 เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นหลักๆ ในภูมิภาคเอเชีย 12 ตลาด (ณ 31 มี.ค.)

ไล่ตั้งแต่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ปรากฏว่า ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงมา 28.74% หนักสุดเป็น "อันดับ 3" รองจาก ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ลดลงประมาณ 31 – 32%

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ประมาณ 22.63% ในช่วงไตรมาสแรก โดยหลักเป็นเพราะแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ถูกปรับลดประมาณการลงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดถูกหั่นลงมาถึง 19.5% ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างฮ่องกง ซึ่งถูกหั่นประมาณการลง 12% ส่วนอันดับ 3 คือ มาเลเซีย ถูกหั่นประมาณกำไรลง 11.6%

“สองสาเหตุหลัก ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยถูกปรับลดประมาณการมากกว่าประเทศอื่น คือ ราคาน้ำมันที่ลดลงหนัก และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าคาด”

ด้วยโครงสร้างตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีกลุ่มพลังงานและปิโตรเลียม เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมามาก ก็ย่อมทำให้ประมาณการกำไรของตลาดหุ้นไทยถูกปรับลดลงมาไม่ต่างกัน ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หนักว่าคาดการณ์ ทำให้หุ้นเกือบทุกกลุ่มได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

ด้วยดัชนี SET และราคาหุ้นไทยหลายบริษัทที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก ทำให้เริ่มมีคำถามจากนักลงทุนบางส่วนว่า ตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ ถูกแล้วหรือยัง?

หนึ่งในอินดิเคเตอร์ที่หลายคนมักจะนำมาพูดถึงเพื่อเปรียบเทียบ คือ อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E ของตลาด ปัจจุบันค่า P/E ของ SET อยู่ที่ 13.7 เท่า อิงกับกำไรปีนี้ เมื่อมองอย่างง่ายเทียบกับภูมิภาคแล้ว ยังคงสูงเป็นอันดับ 4 จากทั้งหมด 12 ตลาด และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 12.61 เท่า

158574854298

เมื่อพิจารณค่า P/E ในอีกมิติหนึ่ง คือการปรับตัวของช่วง P/E เทียบกับค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) จะเห็นว่าทั้งๆ ที่ดัชนี SET ปรับตัวลดลงมาพอสมควร แต่ช่วงของการปรับตัวลงเทียบกับ Standard deviation (SD) เฉลี่ย 5 ปี ยังถือว่าหุ้นไทยปรับตัวลงน้อยกว่าภูมิภาค ซึ่งลงมาเฉลี่ย -1.95SD เท่านั้น ส่วนไทยลงมา -1.5SD ทำให้ตลาดใกล้เคียงอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งปรับตัวลดลงถึงประมาณ -4SD จึงเริ่มมีความน่าสนใจมากกว่าไทย

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังดูแพงอยู่เทียบกับภูมิภาค แม้ดัชนีจะลดลงมามาก เป็นเพราะกำไรที่ปรับตัวลดลงมากกว่าราคา และเมื่อมองไปยังอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า แนวโน้มของการเติบโตก็ดูเหมือนจะต่ำกว่าภูมิภาคอีกเช่นกัน โดยรวมแล้วทำให้การรีบาวด์ของ SET จะต่ำกว่าตลาดอื่นๆ”

นอกจากนี้ ในมุมของอัตราเงินปันผลตอบแทน ซึ่งเป็นจุดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้เป็นตัวชูโรงมาตลอด แต่ล่าสุดจากการคาดการณ์ของ Consensus ดูเหมือนว่าความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในจุดนี้ก็ลดลงไปด้วย

ปัจจุบันตลาดหุ้นสิงคโปร์ ให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุดราว 5.9% รองลงมาคือ ไต้หวัน 4.5% และมาเลเซีย 4.1% ส่วน SET อยู่ในอันดับ 6 ที่ 3.8%

ขณะที่มิติของการเติบโต พิจารณาจากค่า PEG (ยิ่งต่ำจะยิ่งดี) จะเห็นว่าของ SET อยู่ที่ 4.78 เท่า สูงกว่าทุกตลาดยกเว้น สิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งเป็นสองตลาดที่คาดว่าจะไม่เห็นการเติบโตในช่วง 2 ปีถัดจากนี้

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2 นี้ มองว่าสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยจะเริ่มดีขึ้น คาดจะมีแรงซื้อคอยหนุนจาก 2 ปัจจัยคือ การเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืนของหลายบริษัท และเม็ดเงินจากกองทุน SSF Extra คาดไว้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นความเสี่ยงที่คาดเดาได้ยาก รวมถึงภัยแล้งซึ่งเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนยังไม่ได้ประเมินกันไว้มากนัก อาจจะเป็นวิกฤติถัดจากนี้ได้

“โดยปกติ SET มักจะชี้นำจีดีพีล่วงหน้าประมาณ 3 เดือน หากเป็นเช่นนั้น และจีดีพีในไตรมาส 2 นี้เป็นจุดต่ำสุด SET ก็มีโอกาสจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ถ้าจีดีพีในอนาคตยังคงต่ำลงไปอีก ก็มีโอกาสที่ SET จะลดลงไปต่ำกว่าจุดต่ำสุดรอบก่อนหน้าที่ 970 จุด ส่วนกรอบบนประเมินไว้ที่ 1,220 จุด”