Pivotal Moment จากวิกฤติสู่จุดพลิกผัน

Pivotal Moment จากวิกฤติสู่จุดพลิกผัน

ในสถานการณ์ที่ท้าทาย มักจะมีคนที่ผงาดขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง และคนที่ล้มเหลวพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า และนี่จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้เกิดจุดพลิกผันครั้งใหญ่สำหรับองค์กรธุรกิจ การเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งสำคัญ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การต่อสู้กับสถานการณ์ท้าทายที่เป็น Once in a life time ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่สามารถคาดเดาได้ ไม่มีประสบการณ์ หรือการเรียนรู้ในอดีตที่จะนำมาใช้เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น มักจะตามมาด้วยการเกิดขึ้นของ Winner และ Loser อย่างชัดเจน

สัจธรรมที่เราเห็นอยู่เสมอก็คือ “จะมีคนที่ผงาดขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง และคนที่ล้มเหลวพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า” เพราะนี่จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้เกิดจุดพลิกผันครั้งใหญ่สำหรับองค์กรธุรกิจก็เช่นกัน การเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเพื่อทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง หรือ ที่เรียกว่า Business Continuity Plan (BCP) ไม่ได้เป็นแค่เรื่องแผนงานกลยุทธ์ในการแก้ปัญหา ความเก่งกาจของทีมงานที่ขับเคลื่อน BCP ในองค์กร แต่ยังหมายถึง สภาวะผู้นำของผู้นำองค์กรที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้อง และมีทักษะของความเป็น Collaborative Leader

นั่นคือโฟกัสที่ผลลัพธ์ปลายทาง และผลักดันให้ทีมงานมีเป้าหมายและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นแผนงาน 4 ส่วน คือ Prevent-PrepareRespond-Recover นั่นคือการป้องกัน การตั้งรับ การตอบสนอง และการฟื้นฟู ทุกอย่างจะต้องบริหารจัดการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน สถานการณ์ Covid-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ สิ่งที่ต้องทำอย่างสุดกำลังในตอนนี้คือ สามสิ่งแรก ส่วนเรื่องของการเตรียมแผนฟื้นฟู ถึงแม้จะมีความสำคัญมาก แต่ก็คงยังไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำในวันนี้

บทความล่าสุดใน Harvard Business Review ได้รวบรวมหลายประเด็นที่องค์กรธุรกิจในประเทศจีนลงมือทำในการรับมือสถานการณ์ Covid-19 โดย 6 แนวทางหลักที่น่านำไปเรียนรู้ก็คือ

ความชัดเจนในการสื่อสารกับพนักงาน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในห้วงเวลาของความสับสน หวาดกลัว ความชัดเจนเท่านั้นที่จะทำให้ธุรกิจหาทางเดินต่อไปได้และลดแรงกระทบที่จะเกิดขึ้นแทบจะทุกองค์กร มีการให้คำแนะนำพนักงานในการปฏิบัติตัวและใช้ชีวิต อีกทั้งมีการให้สวัสดิการการตรวจสุขภาพกับพนักงานและครอบครัว รวมถึงแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวให้กับพนักงาน

2.มีการกระจายแรงงาน และเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของแรงงานได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจค้าปลีกหลายแห่งเป็นต้นแบบของโมเดลใหม่ ที่เรียกว่า “Sharing Employees” นั่นคือการแชร์พนักงานร่วมกันระหว่างกลุ่ม ธุรกิจค้าปลีกซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีลูกค้า ต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นกับกลุ่มธุรกิจร้าน อาหาร โรงแรม โรงหนัง Hema ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือของ Alibaba ก็ใช้แนวทางนี้ในการจ้างงานเพื่อรับมือกับดีมานด์ การส่งสินค้าตามบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว

3.มีการปรับเปลี่ยนช่องทางการขายอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อตอบสนองกับ “The New Normal” เมื่อหลายสิ่งที่เคยขายอยู่ในช่องทาง Off-line กลายมาเป็น On-line เกือบ 100% หลายธุรกิจปรับตัวอย่างเร็ว โดยโยกพนักงานที่ทำงานหน้าร้านมาเป็นฝ่ายสนับสนุนการขายบนช่องทาง On-line บริษัทเครื่องสำอาง Lin Qingxuan ที่ต้องปิดสาขาลงเป็นจำนวนมาก ปรับเปลี่ยนบทบาทของพนักงานขายหน้าร้าน (BA) ให้สามารถกลายมาเป็น Online Influencers บนแพลตฟอร์มของ WeChat ช่วยกระตุ้นยอดขาย จนยอดขายรวมในอู่ฮั่นโตขึ้นถึง 200% เทียบกับปีที่ผ่านมา

4.ใช้เครื่องมือในการทำงานแบบ Remote Working อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ Video Conferencing และ Social Media บนแพลตฟอร์มพื้นฐาน อย่าง WeChat อีกทั้งมีการขยายตัวของธุรกิจที่เป็น Event Streaming มีการทำ Online Hackathon การจัดสัมมนาแบบออนไลน์ขายบัตรให้กับผู้สนใจ หนึ่งในสตาร์ทอัพเล็กๆ อย่าง Run The World ที่มีทีมงานไม่กี่คน ได้รับความสนใจจาก VC ระดับโลก Andreessen Horowitz จนถึงขั้นเข้าร่วมลงทุนด้วย 

5.ในวิกฤติมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ นอกเหนือจากธุรกิจ B2C e-commerce ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดแล้ว ยังมีธุรกิจจำนวนมากที่ปรับตัวได้เร็วและสามารถคว้า โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ เช่น Kuaishou ธุรกิจ Social Video Platform ที่ขยายไปทำ Online Education ให้กับโรงเรียน และมหาวิทยาลัยที่ต้องหยุดการเรียนการสอน ธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งผันตัวไปให้บริการส่งอาหารแบบส่งวัตถุดิบ พร้อมปรุงเพื่อตอบสนองความต้องการทานอาหารแบบที่เป็น Home Cooking

6.การปรับเปลี่ยนกลยุทธการกระจายสินค้า Supply Chain Strategy จากแบบรวมศูนย์ เป็นแบบกระจายตัว Decentralized และใช้ Micro-fulfillment มากขึ้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดเก็บสต๊อกและการขนส่ง ทำให้ตอบสนองความต้องการลูกค้าที่กระจายตัวในระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น

ในวันที่อนาคตยากที่จะคาดเดา คนที่ปรับตัวได้เร็วจะลุกขึ้นมาตั้งหลัก แล้วทะยานไปข้างหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง วิกฤติที่เกิดขึ้นจะทำให้เราได้เห็น The New Normal

ในวันที่อนาคตยากที่จะคาดเดา คนที่ปรับตัวได้เร็วจะลุกขึ้นมาตั้งหลัก แล้วทะยานไปข้างหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง วิกฤติที่เกิดขึ้นจะทำให้เราได้เห็น The New Normal อีกหลายอย่าง เช่น Remote Working จะกลายเป็นวิถีการทำงานที่มีประสิทธิภาพกว่ารูปแบบเดิมๆ ออฟฟิศ สำนักงานจะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เช่นเดิม การให้บริการ Online จะตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่การศึกษา การแพทย์ การจัดกิจกรรมทางสังคม วิถีการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป จะเกิดมีดีมานด์ใหม่ๆ ที่ เราอาจไม่เคยคาดเดามาก่อน Digital Transformation จะถูกเร่งสปีดแบบ 20X เช่นเดียวกันกับการขยายตัวของ “Sharing Employees” โมเดล Social Distancing จะกลายเป็นวิถีการใช้ชีวิต ช่วงเวลานี้จะเป็นจุดพลิกผันของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในทุกแง่มุม ทั้งสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง

คำถามเดียวที่ต้องถามตัวเองก็คือ เราจะมองวิกฤตินี้ด้วยมุมมองใหม่ หรือจะยังยึดติดกับมุมมองเดิมและวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ซึ่งอาจจะทำให้วิกฤติกลายเป็นวิกฤติขั้นสุด!