7 สิ่งดึงสติก่อนติดกับ 'Panic Shopping'

7 สิ่งดึงสติก่อนติดกับ 'Panic Shopping'

"ไม่รอแล้ว" ความรู้สึกแรกที่คิดว่า จะต้องออกไปซื้อสินค้าจำเป็นมาเก็บไว้ในบ้าน หากสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดหนัก

“ไม่รอแล้ว” ความรู้สึกแรกที่คิดว่า จะต้องออกไปซื้อสินค้าจำเป็นมาเก็บไว้ในบ้าน หากสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดหนักแม้รัฐบาลยังยืนยันว่าไม่มีแผนปิดเมือง ซีลประเทศในตอนนี้ แต่การไม่ออกจากบ้านเป็นวิธีการดูแลตัวเองและสังคมโดยรวมที่ดีที่สุด สอดคล้องกับธุรกิจและหน่วยราชการหลายแห่งประกาศความชัดเจน“Work from Home” ดังนั้น การออกไปชอปปิ้งซื้อสินค้ามาตุนไว้เป็นสิ่งจำเป็น ?

ก่อนจะตัดสินใจออกไปซื้อสินค้าโปรดพิจารณา 7 สิ่ง ที่จะช่วยดึงสติว่าเรากำลังอยู่ในกลุ่มPanic Shopping หรือแค่เป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เท่านั้น 

1.กลุ่มสินค้าที่ซื้อ : พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยถึงผลสำรวจถึงพฤติกรรมลดการออกนอกบ้าน ส่งผลให้มีการสต็อกอาหารและสินค้าจำเป็นต่างๆ เรียกว่าเกิด Panic Shopping ว่า สินค้าที่ประชาชนมีความต้องการเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติแยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารสดและเครื่องปรุง ,อาหารสำเร็จรูป และของใช้จำเป็น

2.จำนวนที่ซื้อ : สนค.เล่าอีกว่า มีการปรับพฤติกรรมจากเดิมซื้อพอใช้ไม่กี่มื้อ เปลี่ยนเป็นซื้อคราวละมากๆ เพื่อลดการออกนอกบ้าน ทำให้ร้านค้าปรับตัวไม่ทัน  การซื้อจำนวนที่มากขึ้นเพราะคิดว่า การสำรองสินค้าเพื่อไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน (Food Security) ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อประชาชนเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหากประชาชนได้สำรองสินค้าเหล่านี้ในระดับที่พอใจแล้วก็คงกลับเข้าสู่พฤติกรรมปกติ

158484670412

3.แบกสต็อกสินค้าเก่าไว้ที่บ้านทั้งที่ ห้างร้านสามารถสั่งเพิ่มมาใหม่จากผู้ผลิตได้ : ข้อมํลจากสนค.ย้ำอีกว่า สินค้าที่ประชาชนแห่กักตุนส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ดังนั้นจะมีสินค้ามาเติบใหม่ในห้างฯได้ตลอดเวลาทำให้สินค้าในบ้านเรากลายเป็นของเก่าค้างสต็อกไปทันที

4.นำเงินในอนาคตมาใช้ : ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าขณะนี้ย่อมสูงกว่าช่วงเวลาปกติ หรืออย่างน้อยไม่มีโปรโมชั่นจากห้างเพราะเมื่อดีมานด์มากความจำเป็นเพื่อผลักดันซับพลายจึงไม่จำเป็น เท่ากับว่าเรากำลังนำเงินในอนาคตที่อาจจำเป็นต้องใช้เรื่องอื่นมากกว่ามาแปลงเป็นสินค้าแล้วกองไว้ในบ้าน

5.ภาระการดูแลสินค้าที่ซื้อมา : หากเป็นอาหารแห่ง ก็แค่หาที่เก็บ ที่วางแต่หากเป็นของสด ก็ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น แต่ต้องถามตัวเองว่าตู้เย็นมีพื้นที่เพียงพอหรือไม่ คมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่ามีการผลิตอาหารเพียงพอ อย่างข้าวมีการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ 7.2 ล้านตัน และสามารถเก็บสต็อกไว้บริโภคได้ทั้งปี ส่วนอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศไม่น้อยกว่า 3 เดือน ขณะที่อาหารสำเร็จรูปยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ประมาณ 60 - 70% อย่างกรณีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสามารถเพิ่มการผลิตได้อีกอย่างน้อยวันละ 5 ล้านซองจากที่ปัจจุบันผลิตอยู่ที่ 10 ล้านซอง ซึ่งถือว่าสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าจะไม่ขาดแคลนแม้ประชาชนจะมีความต้องการบริโภคมากขึ้น ส่วนในช่วงที่มีความต้องการสินค้าเป็นจำนวนมากก็จะมีการเก็บสต็อกสินค้าเพิ่มเป็น 3 เท่าเพื่อให้สามารถจัดสินค้าขึ้นสู่ชั้นวางได้ภายใน 6 - 12 ชั่วโมง

158484671712

6.ช่องทางซื้อสินค้าออนไลน์และDelivery อาหาร : เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวถึงการเชิญตัวแทนผู้ประกอบการ ที่ให้บริการจัดส่งสินค้าและอาหารถึงบ้าน (Delivery) รวม 17 ราย อาทิ แกร็บฟู้ดส์ เคอรี่ ไลน์แมน เคเอฟซี ไปรษณีย์ไทย ฯ มาหารือ เพื่อกำหนดมาตรการในการรักษาความสะอาดและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อที่อาจมาจากผู้นำส่งสินค้า ที่มาจากทาง ทั้งร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต มาถึงมือประชาชน ในขณะเดียวกันก็ป้องกันการติดเชื้อจากที่บ้านกลับไปสู่ร้านอาหารด้วย ปัจจุบันมีผู้ส่งสินค้านับ 100,000 ราย

7.การอยู่ในที่แออัดกับคนจำนวนมาก เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด อาจเป็นช่องทางติดโรคได้ 

ดังนั้น การตั้งสติก่อนออกไปชอปปิ้ง เป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าการแสวงหา“ของจำเป็น”ต่างๆเพราะ “การตรียมพร้อม กับ ”Panic“ ยังเป็นเส้นบางๆของการอธิบายว่าเรากำลัง ”Panic Shopping" หรือไม่