มหาอำนาจทุ่ม ‘ล้านล้านดอลลาร์’ ต้านไวรัส

มหาอำนาจทุ่ม ‘ล้านล้านดอลลาร์’ ต้านไวรัส

บรรดาชาติมั่งคั่งที่สุดในโลกเตรียมมาตรการบนงบประมาณสูงลิ่วเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า รวมถึงออกข้อห้ามทางสังคมที่เข้มงวดที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

การแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจที่กำเนิดจากจีนแล้วกระจายไปทั่วโลก ข้อมูลวานนี้ (18 มี.ค.) ประชาชนติดเชื้อแล้วกว่า 2 แสนคนทั่วโลก โดยรัฐบาลในทุกทวีปใช้มาตรการเข้มงวดสกัดไวรัส ตั้งแต่สั่งระงับเดินทาง ไปจนถึงยกเลิกการแข่งขันกีฬาและพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตเพิ่มอีก หลังจากตัวเลขสูงถึงเกือบ 9 พันราย พร้อมกันนั้นมหาอำนาจโลกก็มุ่งเน้นจำกัดผลเสียหายใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจด้วย

"สหรัฐ" ในฐานะเบอร์ 1 เศรษฐกิจโลก รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนออัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์เข้าตลาด ตัวทรัมป์เองต้องการมอบเงินสดให้ชาวอเมริกันภายใน 2 สัปดาห์ ในช่วงที่ยอดผู้เสียชีวิตใกล้ทะลุหลัก 100 คน และยิ่งตรวจหาเชื้อมากจำนวนผู้ติดเชื้อก็พุ่งขึ้นกว่า 5,700 คน

สายการบินเป็นภาคส่วนหนึ่งที่เสียหายหนักสุด จึงพยายามขอเงินช่วยเหลือและเงินกู้อย่างน้อย 5 หมื่นล้านดอลลาร์ให้อยู่รอดได้ในช่วงที่ผู้โดยสารหดหาย

"อังกฤษ" ที่สั่งให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าผับ บาร์ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และโรงละคร เผยงบประมาณ 3.3 แสนล้านปอนด์ ช่วยเหลือภาคธุรกิจที่เสี่ยงปิดกิจการ นักวิเคราะห์งบประมาณเผยว่า ขนาดของเงินกู้ที่จำเป็นต้องใช้อาจพอๆ กับหนี้จำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในช่วงทำสงครามกับนาซีเยอรมนีระหว่างปี 2482-2488

“ตอนนี้ไม่ใช่เวลามาตกใจกับหนี้สาธารณะ” โรเบิร์ต โชต ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบงบประมาณ ที่ทำบทวิเคราะห์อิสระเกี่ยวกับการเงินภาครัฐของสหราชอาณาจักร กล่าวกับส.ส.ในสภา

แม้แต่สถาบันที่ได้รับการเคารพสูงสุดก็หนีไม่พ้นวิกฤติคราวนี้ "ศาสนจักรโบสถ์แห่งอังกฤษ" ระงับการทำพิธี สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธ ที่ 2 พระชนมายุ 93 พรรษา เตรียมแปรพระราชฐานจากพระราชวังบักกิงแฮมไปประทับ ณ พระราชวังวินด์เซอร์นอกกรุงลอนดอน ที่ที่พระองค์และพระกนิษฐา “เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต” เคยถูกส่งตัวไปประทับเพื่อความปลอดภัย ช่วงที่กรุงลอนดอนถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนักระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

"ฝรั่งเศส" อัดฉีดเงิน 4.5 หมื่นล้านยูโรตามมาตรการรับมือวิกฤติเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือบริษัทและพนักงาน ด้วยคาดว่าผลผลิตจะหดตัวลง 1% ในปีนี้

"สหภาพยุโรป" (อียู) ผ่านคลายระเบียบอนุญาตให้บริษัทรับเงินช่วยเหลือจากรัฐได้มากถึง 500,000 ยูโร หรือค้ำประกันเงินกู้ธนาคารเพื่อรับรองสภาพคล่อง

แต่แม้รัฐบาลประกาศว่าจะทุ่มเทเงินสดมหาศาล แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกและราคาน้ำมันก็ยังหนีไม่พ้นฝันร้ายจากไวรัสโคโรน่า เมื่อวันจันทร์ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงหนักสุดนับตั้งแต่แบล็กมันเดย์เมื่อปี 2530

"ฟิลิปปินส์" เป็นประเทศแรกที่สั่งปิดตลาดหุ้น ส่วนที่ยุโรปที่กำลังกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ หุ้นสายการบินและท่องเที่ยวเดินทางดิ่งลงอีก 7%และทั้งๆ ที่ธนาคารกลางทั่วโลกลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วเพื่อพยุงเศรษฐกิจ แต่นักลงทุนยังคงคิดหนักว่า ธนาคารอาจใช้กระสุนหมดก่อนควบคุมวิกฤติสุขภาพโลกอันยืดเยื้อนี้ได้

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า เศรษฐกิจโลกส่อเค้าถดถอยเหมือนกับตอนเกิดวิกฤติการเงินปี 2551 แต่อีกจำนวนหนึ่งคาดว่า เมื่อการระบาดสิ้นสุดลงเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระนั้นทั่วโลกก็มีข่าวร้ายไม่เว้นแต่ละวัน บราซิลมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าเป็นรายแรก เปรูต้องส่งทหารลงถนน รัฐบาลอิสราเอลให้อำนาจหน่วยงานความมั่นคง “ชินเบต” ใช้เทคโนโลยีดักฟังโทรศัพท์มือถือ ที่ปกติใช้ในภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย มาตามรอยการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อ ส่วนอิหร่านต้องปล่อยนักโทษราว 85,000 คน กลัวไวรัสระบาดในเรือนจำ

ขณะเดียวกันชีวิตประจำวันของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ  พ่อค้ารายหนึ่งในรวันดากล่าวด้วยความประหลาดใจ เมื่อลูกค้าแห่กันมาซื้อข้าว น้ำมันพืช น้ำตาล แป้ง "ราวกับว่าผู้คนกำลังเตรียมตัวทำสงครามราคาสินค้าแพงขึ้นแต่พวกเขาก็ซื้อ"