กำไรแบงก์เสี่ยง ‘ถดถอย’ งานวิจัยแนะลดต้นทุน "แสนล้าน" ใน 5 ปี  

กำไรแบงก์เสี่ยง ‘ถดถอย’ งานวิจัยแนะลดต้นทุน "แสนล้าน" ใน 5 ปี  

ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ การบริโภคในประเทศลดลง ยิ่งทำให้ “ธุรกิจธนาคารพาณิชย์” ที่กำลังเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีดีสรัปชั่นทางธุรกิจ จนต้องทุ่มงบลงทุนด้านดิจิทัลจำนวนมหาศาลเพื่อทรานฟอร์มองค์กรและธุรกิจ ต้องเจอ “ศึกหนัก” เข้าไปอีก

จากสินเชื่อที่หดตัวตามเศรษฐกิจ  อัตราดอกเบี้ยขาลง และการช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งล้วนแต่กระทบกับรายได้ และการทำกำไรของแบงก์ 

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะธุรกิจก็ยังมีอยู่  โดยงานวิจัยล่าสุดของของ "Roland Berger" บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และบริหารจัดการชี้ว่า ธนาคารในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาโครงสร้างตลาดที่กำลังอิ่มตัว เนื่องจากการแข่งขันด้านสินค้าและบริการที่สูงขึ้น รายได้จากค่าธรรมเนียมที่ลดลง และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยใน 5 ปีข้างหน้านี้  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อขีดความสามารถในการทำกำไร

"อุดมเกียรติ บุญวรเศรษฐ์" หุ้นส่วนบริษัท Roland Berger และผู้เขียนร่วม เปิดเผยว่า ในอนาคตอันใกล้ ธนาคารไทยมีความเสี่ยงจากรายได้และผลกำไรที่ลดลง อันเนื่องมาจากการปรับรูปแบบการดำเนินงานและโครงสร้างต้นทุนที่ไม่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ มากกว่าความเสี่ยงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งขันรายใหม่ๆที่เป็นDigital disruptor โดยคาดว่าอัตรากำไรที่ลดลงนี้จะส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงในภาคธนาคารพิจารณาปรับโครงสร้างต้นทุนในระดับที่เข้มข้นขึ้น

โดยรายงานของ Roland Berger ในหัวข้อ "ธนาคารไทยจะพยุงอัตรากำไรได้อย่างไรในระหว่างที่รอผลตอบแทนจากการลงทุนด้านดิจิทัล" ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ในไทยจะเผชิญแรงกดดันให้คงค่าเฉลี่ยผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity หรือ ROE) อยู่ที่ประมาณ 8% เหมือนช่วงหลายปีก่อน

โดยคาดการณ์ว่าอัตรากำไรของทั้งภาคธนาคารไทยมีความเสี่ยงที่จะลดลงไปถึง 6.6% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น  ธนาคารไทยควรพิจารณาดำเนินโครงการริเริ่มเพื่อลดต้นทุนในระยะสั้น เพื่อประคับประคอง ในช่วง 3- 5 ปีนี้ และขณะเดียวกันก็ประเมินโครงการลงทุนด้านดิจิทัลทั้งหมดอีกครั้ง

งานวิจัยดังกล่าวยังคาดการณ์ว่า ภาคธนาคารไทยต้องมีการลดต้นทุนให้ได้ราว 1 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.3 พันล้านดอลลาร์ ถึง 1.8 แสนล้านบาท (ประมาณ 5.7-6  พันล้านดอลลาร์) ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อรับมือกับผลตอบแทน ROE ที่ลดลง

ทั้งนี้ หากย้อนดูในอดีต  ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีการฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 2540และได้เข้าสู่ช่วงการบูรณะเศรษฐกิจโดยมีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ธนาคารพาณิชย์รวมต่อปีสูงถึง 8.0% จนถึงปี 2556

 หลังจากนั้น การเติบโตของภาคธนาคารได้ชะลอตัวลง โดยมีการเติบโตต่อปีเฉลี่ยเพียง 3.7% ระหว่างปี 2556 ถึงปี 2562 ในช่วงดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งได้ดำเนินโครงการ Transformation ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคงไว้ซึ่งการเติบโตที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการดำเนินโครงการ Digital Transformation ในภาคธนาคารอย่างกว้างขวาง

ตั้งแต่โครงการนำร่องหุ่นยนต์ที่ปรึกษาทางการเงิน แชทบ็อทบริการลูกค้า การพลิกโฉมประสบการณ์ Mobile Banking การใช้คลาวด์ไอที ไปจนถึงการประเมินสินเชื่อออนไลน์ โครงการดิจิทัลแบงกิ้งเหล่านี้ถือเป็นการลงทุนที่สูงสำหรับธนาคาร และใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลตอบแทนทางการเงินอย่างเป็นรูปธรรม

Philippe Chassat  หุ้นส่วนอาวุโสบริษัท Roland Berger ผู้เขียนร่วม ระบุอีกว่า ในช่วงเวลานี้ ธนาคารไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างต้นทุนในระยะสั้น และควรประเมินการลงทุนด้านดิจิทัลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแต่ไม่ควรหยุดดำเนินการลง ขณะนี้ธนาคารยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า "Valley of No Return" จนกว่าการลงทุนด้านดิจิทัลจะให้ผลตอบแทนกลับคืนมา ซึ่งอาจยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาวะกำไรถดถอยของภาคธนาคารไทย  นอกจากบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger  จะมองว่าไทยมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนให้ได้ราว 1แสนล้านบาท ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2567 และ ธนาคารต้องลดต้นทุนให้ได้ 1.7-1.8 แสนล้านบาท เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตในกรณีที่แย่ที่สุด (worst-case scenario) แล้ว 

 งานวิจัยของ Roland Berger ยังแนะนำถึง 3แนวทางที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผลในการช่วยปรับโครงสร้างต้นทุนของธนาคาร ซึ่งประกอบด้วย การลดต้นทุนด้วยเทคนิค Accelerated Zero-based Budgeting การปรับปรุงการจัดซื้อให้เป็นเลิศหรือ Procurement Excellence และการลดต้นทุนด้านไอที หรือ IT Frugality

Chassat ยังระบุอีกว่า ธนาคารไทยจำเป็นต้องดำเนินการหลายอย่างในการเปลี่ยนผ่านและปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงเชิงโครงสร้างของตลาด พร้อมแนะนำว่า ธนาคารควรดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันเมื่อสภาพเศรษฐกิจกลับฟื้นขึ้นและเติบโตในทางบวกต่อไปในระยะกลางถึงระยะยาวของภาคธนาคารไทย