ถกตั้งบอร์ด 'อสมท' ล่ม 5 กก.ลา ผวาผิดกฎหมาย

ถกตั้งบอร์ด 'อสมท' ล่ม 5 กก.ลา ผวาผิดกฎหมาย

ประชุมบอร์ด"อสมท"ล่ม ไม่กล้าอนุมัติชื่อบอร์ดใหม่สวนมติกรรมการสรรหา เกรงผิดกฏหมาย

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 63 รายงานจากบริษัท อทมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประชุมบอร์ด อสมท ช่วงบ่ายวันนี้ (13 มี.ค.) เพื่อพิจารณารายชื่อกรรมการใหม่ ปรากฎว่ามีกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 8 คน จากกรรมการทั้งสิ้น 13 คน เนื่องจากกรรมการอีก 5 คนลาประชุม เพราะเกรงว่า วาระที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมในการพิจารณาชื่อกรรมการใหม่ 4 คนแทนกรรมการที่ครบวาระ จะขัดต่อกฏหมาย เนื่องจากไม่ได้นำมติกรรมการสรรหาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 มาพิจารณาใหม่ แต่เป็นการเสนอชื่อของประธานกรรมการ

รายงานข่างระบุว่า มีความพยายามจะเสนอชื่อในการประชุมแม้จะมีกรรมการเข้าร่วมเพียง 8 คน แต่มีกรรมการบางท่านทักท้วงในที่ประชุมว่า การทำแบบนี้อาจจะเป็นมติที่ขัดต่อกฏหมายและระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต. )ทำให้ประธานบอร์ด ต้องถอนวาระ และ ขอให้ถือว่าบ่ายวันนี้ไม่ใช่การประชุมบอร์ดพิจารฯาเรื่องนี้ เป็นการหารือกันธรรมดา และให้นัดประชุมใหม่ในครั้งต่อไป

ก่อนหน้านี้สหภาพแรงงาน อสมท ได้ออกมาระบุว่า มีความพยายามของกรรมการบางส่วนที่อ้างคำสั่ง “ผู้ใหญ่” ในรัฐบาล เพื่อให้เปลี่ยนแปลงการสรรหากรรมการใหม่แทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระ 1 ใน 3 หรือ 4 คน อันเป็นหลักเกณฑ์ของ ตลท.และ ก.ล.ต. เพื่อต้องการให้คนของตนเองได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการ อสมท ต่อไป ทั้งๆที่คณะกรรมการสรรหาไม่อนุมัติต่อวาระบุคคลดังกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีประชุมคณะกรรมการสรรหาที่มี นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาเป็นประธาน และเป็นกรรมการอิสระ อสมท มีมติให้ต่อวาระ นางภัทราพร วรทรัพย์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง และ นายมนตรี แสงหิรัญ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท PTT ICT Solutions เป็นกรรมการต่ออีก 1 วาระ และมีมติไม่ต่อวาระแก่ พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา นายตำรวจเกษียณราชการ ประธานกรรมการอิสระ และนายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาส่งหนังสือถึงผลการสรรหากรรมการ ไปให้คณะกรรมการ อสมท เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อพิจารณาอนุมัติ แต่ปรากฎว่าบอร์ดผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ยอมรับผลของคณะกรรมการสรรหา โดยอ้างว่าต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. พิจารณาเรื่องนี้ และให้ตีกลับไปที่สคร.

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรรมการสรรหาให้เหตุผลว่า ไม่ต่ออายุบางคน เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกรรมการเป็นทั้งอนุกรรมการเยียวยาคลื่น 2600 จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโยตรงกับ อสมท จึงไม่ต่ออายุให้

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 คณะกรรมการ กสทช.มีมติ ให้จ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้ อสมท จำนวน 6685.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นตามผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย