'บิ๊กป้อม' ดันโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียนเพิ่มปริมาณน้ำในอีอีซี 

'บิ๊กป้อม' ดันโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียนเพิ่มปริมาณน้ำในอีอีซี 

“ประวิตร” ประชุมอนุกรรมการฯสั่งการเพิ่มแหล่งเก็บน้ำขนาดกลางในฉะเชิงเทราเพิ่มน้ำในอีอีซีได้ 3 ล้านลบ.ม.รองรับการใช้นำ้ที่มีปริมาณเพิ่มในอนาคต มอบกรมชลประทานเดินหน้าแล้วเสร็จภายในปี 2566 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (12 มี.ค.) ว่า พื้นที่ในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่ความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งในอนาคตจำเป็นจะต้องรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น 

ทั้งจากการเพิ่มของจำนวนประชากร และการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงความเสี่ยงขาดแคลนทางด้านการเกษตร โดยแผนการพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตอีอีซีในปี 2563-2580 ทั้งนี้เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนพัฒนาดังกล่าว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญในวันนี้ จึงได้มีการหยิบยกโครงการเพิ่มปริมาณน้ำและแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่อีอีซีที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน มาพิจารณาความเหมาะสม

​​​ 

พล.อ.ประวิตร  กล่าวว่า  โดยความพร้อมของโครงการก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาต่อไปในการประชุมครั้งที่ 1/2563 วันที่ 20 มีนาคม 2563 นี้ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองระบมตอนล่าง ลักษณะเป็นโครงข่ายอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน ความจุ 19.20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) อ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง ความจุ 15.00 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองกะพง ความจุ 27.50 ล้าน ลบ.ม. 

โดยอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน เป็นโครงการที่ถูกเลือกมาดำเนินการเป็นโครงการแรก ลักษณะเป็นเขื่อนดินมีที่ตั้งหัวงานอยู่ที่บริเวณบ้านอ่างเตย ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน 11,000 ไร่ และฤดูแล้ง 3,000 ไร่ สามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การสัตว์เลี้ยง แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การประมงน้ำจืด การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ปีละ 3 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเพื่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยาในการเสริมศักยภาพการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง ปีละ 1.3 ล้าน ลบ.ม. โดยโครงการนี้มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอท่าตะเกียบได้อีกด้วย มีแผนงานดำเนินโครงการ 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2564-2566 

“จากการประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราระหว่างปี 2560-2580 พบว่า ในปี 2560 มีความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 1,456 ล้าน ลบ.ม. และอีก 20 ปี ในปี 2580 จะมีความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,637 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ขณะที่ในปัจจุบันแหล่งน้ำต้นทุนของจังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ที่ 1,510 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผน ขอให้กรมชลประทานเสนอโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียนให้คณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกงให้ความเห็น ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ม.35 (7) ด้วย” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว