Innovation+Agility สูตรผลิตภาพที่ยั่งยืน

Innovation+Agility สูตรผลิตภาพที่ยั่งยืน

การแข่งขันในยุคดิจิทัลลำพังเพียงแค่ผลิตภาพ (Productivity) คงไม่สามารถทำให้องค์กรอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ “นวัตกรรม” (Innovation) และ "ความคล่องตัว ว่องไว" (Agility)

“ดร.สันติ กนกธนาพร” อดีตเลขาธิการองค์กรเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (APO) กล่าวว่า จากแนวความคิดนี้ที่สุดได้นำไปสู่การพัฒนา 2 เฟรมเวิร์คเพื่อใช้พัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกของ APO ซึ่งมีอยู่ 20 ประเทศ (มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย) ได้แก่ 1. Sustainable Productivity Framework และ 2.Productivity-driven Growth Strategy Framework


สำหรับเฟรมเวิร์คแรก เขาได้ยกเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา เรื่องแรกคือ มีหิมะตกที่เมืองไคโรซึ่งในประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีไม่เคยมีหิมะตกมาก่อน อีกเรื่องหนึ่งก็คือ อากาศที่ร้อนจัดในประเทศออสเตรเลียจนทำให้นักหวดเป็นลมระหว่างแข่งขันเทนนิสในศึกออสเตรเลียโอเพ่น หรือในฤดหนาวที่ประเทศอังกฤษแต่กลับเกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วม เป็นต้น
แน่นอนทุกคนพอเดาออกว่าเป็นผลพวงของภาวะโลกร้อน แต่จะมีใครเคยคิดหรือไม่ว่า มันจะส่งผลต่อองค์กรในอนาคตอย่างไร อย่างเช่น โรงงานผลิตถุงพลาสติกในเวลานี้ที่ปรับตัวไม่ทัน จึงกำลังประสบภาวะยากลำบากจากการรณรงค์ให้เลิกใช้พลาสติก ฯลฯ


อีกกรณีศึกษาที่คลาสสิคก็คือ “โกดัก” ผู้ผลิตฟิล์มที่ถูกกล้องดิจิทัลมาดิสรัปจนต้องเลิกกิจการไปในที่สุด ทั้งๆที่เป็นโกดักที่จับมือกับแอปเปิ้ลผลิตกล้องดิจิทัลเป็นรายแรก (ปีค.ศ. 1973) แต่ด้วยวิธีคิดและเป้าหมายที่ต่างกัน เวลานี้แอปเปิ้ลไม่เพียงอยู่รอดแต่ขึ้นเป็นบริษัทอันดับหนึ่งของโลก


"ถามว่า Productivity และสินค้าของโกดักดีไหม เขาถือเป็นสุดยอดผู้นำในเวลานั้น ในเรื่องของนวัตกรรมเขาก็ทำกล้องดิจิทัล แต่สิ่งที่เขาโฟกัสคือ ต้องการทำให้ภาพชัดขึ้นเท่านั้น ถึงแม้จะมีนวัตกรรมแต่ถ้าไม่ตอบโจทย์ก็มีปัญหาเหมือนกัน ต่างไปจากแอปเปิ้ลที่มุ่งสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า"


การมุ่ง Productivity อย่างเดียว ใช้หุ่นยนต์ มีการทำ Lean,Six sigma ฯลฯ แต่หากขาดนวัตกรรมและความคล่องตัว ไม่คำนึงว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ลูกค้าและสังคมยุคปัจจุบันมีไลฟ์สไตล์อย่างไร แข่งเท่าไหร่ก็แพ้


ซึ่ง Innovation มีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ ระดับแรก ทำเพื่อให้องค์กรอยู่รอดได้นานๆ เช่น รถยนต์มีการเปลี่ยนรุ่น ทำสินค้าที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ระดับ 2 เป็นการนำเอาเรื่องผลิตภาพ ประสิทธิภาพมาทำให้ต้นทุนถูกลง มีกระบวนการที่ดีขึ้น ระดับที่ 3. ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากในยุคนี้คือ มุ่งเรื่องของนวัตกรรมที่ทำให้บิสิเนสโมเดลเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง


"เท่าที่ผมเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานต่างๆใน 20 ประเทศสมาชิก APO คิดว่ามากกว่า 90% ยังทำได้แค่ระดับที่สองเท่านั้น มีน้อยมากที่คิดไปถึงระดับที่สาม ต้องเล่าว่าเมื่อหลายปีก่อนผมเคยไปดูงานบริษัทพีแอนด์จีซึ่งถือว่ามี Innovation มากที่สุดในโลก ผมถามเขาว่าทำได้อย่างไร ตอนนั้นเขาตอบว่า ให้พนักงานไปทำอะไรก็ได้ที่ทำสิ่งที่กำลังทำอยู่เจ๊ง เขาคิดแบบนี้เลย เพราะถ้าไม่ทำ แล้วมีคนอื่นมาทำ เราก็อยู่ไม่รอด Innovation ที่ดีต้องไปถึงระดับสามให้ได้ จะมีอิมแพ็คมากที่สุด"


ในเรื่อง Agility นั้น ปัจจุบันองค์กรต่างๆก็พยายามมองหาวิธีก้าวไปสู่การเป็น Agile Organization ดร.สันติ บอกว่ามีวิธี สูตรที่เขาคิดค้นประกอบด้วย 1. future-ready organization 2. future-proof leader และ 3.Strategic Foresight องค์กรต้องพร้อมตอบโจทย์อนาคต มีกลยุทธ์ที่คิดในวันนี้เพื่อวันข้างหน้า ไม่ใช่เพื่อแก้ไขปัญหาปัจจุบัน


ประการสำคัญองค์กรไม่ได้อยู่คนเดียว แต่จะมี 3 วงกลม วงแรกเป็น Internal Environment อยู่ภายในองค์กร เรารู้ในสิ่งที่เรารู้ ( Known_ Knowns) 2.Transactional Environment รอบๆองค์กร กลุ่มลูกค้าเรารู้คือใคร แต่ก็คงไม่รู้ว่าพวกเขาจะซื้อหรือต้องการสินค้าบริการขององค์กรหรือไม่ (Known_UnKnowns) และ 3.Contextual Environment เป็นวงนอกสุด เป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งด้านเศรษกิจ สังคม การเมือง โรคภัยต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรจะไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น (UnKnown_UnKnowns)


ดังนั้น หากองค์กรใดที่สามารถบริหารจัดการในวงนอกสุดได้ก็จะกลายเป็นผู้ชนะ เช่นเดียวกับที่ แอปเปิ้ลนำหลักของ Outside-In มาสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนได้สำเร็จ ซึ่งวิถีของผู้นำนั้น ก็คือการเป็นผู้กำหนดอนาคตโดยปั้นอนาคตขึ้นมาเอง


"สรุปเฟรมเวิร์คแรก ก็คือ ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงสูง องค์กรต้องพร้อมแข่ง รับมือกับอนาคตได้ และก้าวไปสู่ Innovation ระดับสามซึ่งอาจทำได้ลำบาก แม้จะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆก็จริงแต่ค่อนข้างใช้เวลา แต่ถ้ามี Agility มาเชื่อมต่อมันก็จะรวดเร็วขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งผมเองได้นำเฟรมเวิร์คนี้ไปคุยกับกลุ่ม OECD และได้มีการเซ็นเอ็มโอยูเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดตัวใหม่เพื่อความยั่งยืนที่แท้จริง ซึ่ง KDI ของเกาหลีก็มาขอร่วมด้วย"


เฟรมเวิร์คที่สอง Productivity -driven Growth Strategy Framework นั้น ดร.สันติ บอกว่า มีตัวเลขที่แสดงชัดว่า การทุ่มเงินของหลาย ๆประเทศที่เจริญแล้วเพื่อหวังจะดันเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น แต่สุดท้าย Productivity กลับอยู่ที่เดิม GDP ก็ทรงๆทรุดๆ แต่มีเพียงปัจจัยเดียวที่จะพึ่งพาได้ก็คือ "Labour Productivity"


"การสร้างแรงงานที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องมีสถาบันที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนซึ่งประเทศไทยมีสถาบันเพิ่มผลิตแห่งชาติ และต้องทำหน้าที่ลิงค์ไปสู่หน่วยงานภาครัฐอื่นๆมาช่วยกันขับเคลื่อน ทำแผนแม่บท กำหนดเป้าหมาย ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์เมื่อ 4 ปีก่อนที่กำหนดว่าจะเป็น Digital Nation ประชาชนและองค์กรของเขาต้องก้าวสู่เป้าหมายนี้ แต่เมื่อปีที่แล้วเขาก็เปลี่ยนเป็น New Economy คือเขาตั้งเป้าหมายและพยายามทำให้สำเร็จ จากนั้นก็ตั้งเป้าหมายใหม่ให้เท่าทันต่อโลกอนาคต "


สิ่งที่ดร.สันติ อยากจะฝากไว้ก็คือ ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจมีอยู่ 3 ข้อ 1. ต้องมี Productivity Management ที่ดีต้องนำไปสู่ความยั่งยืน 2. คิดได้แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติจริงด้วย และ 3. ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้นำภาครัฐซึ่งต้องมีความมุ่งมั่น ต้องเดินหน้า ตั้งใจผลักดันจริงๆ ไม่เช่นนั้นคงประสบความสำเร็จได้ยากมาก


หมายเหตุ--เรียบเรียงจากปาฐกถาหัวข้อ “Productivity Movement for Future Transformation” ภายในงาน "International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success" จัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ประกาศเดินหน้ายกระดับผลิตภาพ ในทุกภาคส่วน ในการเพิ่มทักษะความสามารถของแรงงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับประสิทธิภาพขององค์กร ให้สามารถเติบโตและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทัน รวมทั้งการส่งเสริม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง มุ่งสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืนและเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ